วงเสวนา”ก้าวไกล”ถล่ม ปปช.ยับ”วีระ”แฉ ชงสอบ”บิ๊กป้อม”ทุจริต เงียบกริบ

301

วงเสวนา “ก้าวไกล” อัด ป.ป.ช. ยับ ชี้ การเมือง ชอบ จุ้น องค์กรอิสระ  “วีระ” แฉ ยื่นสอบ ปมทุจริต”บิ๊กป้อม” ผ่านมา3ปี เรื่อง งียบกริบ ด้าน สส.หนุ่ม ก้าวไกล เสนอ open government เปิดข้อมูลให้ปชช.เข้าถึงได้ ทำให้คนโกงกลัว

วันที่ 4 ก.ค.63 ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ เพจ New Consensus Thailand จัดการเสวนาในหัวข้อ “องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี?” โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยประกอบด้วย นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอรัปชั่น, และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพ เขตบางแค พรรคก้าวไกล โดยมี ช่อ-นางสาวพรรณิกา วาณิช เป็นผู้ดำเนินรายการ

นางสาวสมลักษณ์ กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเริ่มต้นมาตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาฯ 2516 ถ้าเราย้อนไปดูก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีเหตุผลหนึ่งคือมีการทุจริตเกิดขึ้นมากจึงต้องเข้ามาจัดการ แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่าทุกคณะรัฐประหารต่างก็มีปัญหาการทุจริตเช่นกัน เรามักจะพบเสมอว่าบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังลงจากอำนาจ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้มีการตั้งองค์กรขึ้นมาคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ป.) ขึ้นมา

ต่อมา จึงมีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ปัญหาคือที่มาของกรรมการสรรหา มีการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายบริหารมากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน ในที่นี้ต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนสำคัญมาก แต่ส่วนตนที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน เห็นว่าแม้นักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลเข้ามายุ่งกับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถ้าตัวกรรมการไม่ยุ่งด้วย ไม่เปิดทางให้ การเมืองก็เข้ามายุ่งไม่ได้ ดังนั้น ตัวกรรมการก็มีความสำคัญ ถ้าใจแข็งเขาก็ยุ่งกับเราไม่ได้

นายวีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ค่อยเห็นผลงาน ป.ป.ช.ที่เป็นโบว์แดง บางคนอาจจะบอกว่าคดีที่ ป.ป.ช.ตัดสินชี้มูล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความสำเร็จ แต่ในความเห็นของตนยังไม่จัดว่าเป็นโบว์แดง เพราะในความรู้สึกของประชาชน เขามองเป็นเรื่องการเมือง เป็นการตัดสินลงโทษเพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ และที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีล่าสุด นาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คนเขามองเป็นการเมืองหมด

“ผลงานที่ออกมาประชาชนไม่ยอมรับเลย โดยเฉพาะคดีหลังๆ มา ทุกเรื่องที่คนใน คสช.ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.ปัดตกหมด ไม่เคยรับไว้ไต่สวนเลย ผมเป็นคนที่ยื่นมากที่สุดคนหนึ่ง ป.ป.ช.ตีตกหมดไม่ว่าเรื่องนาฬิกา เรื่องจงใจแจ้งบัญชีทรัพยสินหนี้สินเป็นเท็จ เรื่องความร่ำรวยผิดปกติของ พล.อ.ประวิตร ที่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังอยู่ในชั้นตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นอยู่เลย” นายวีระกล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการตรวจสอบก็คือการทำให้โปร่งใส โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องมาคิดกันว่าจะปรับปรุงอย่างไร ทำให้ตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น สิ่งที่เราเรียกร้องคือ open government หรือ open data คือการเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงดูได้ ทุกวันนี้รัฐอ้างว่ามีการเปิดเผยอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมันเปิดเผยในรูปแบบของข้อมูลที่เครื่องไม่สามารถอ่านออกได้ การเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่แค่การเปิดสัญญาจ้างเป็นไฟล์ .pdf แล้วจบ

การเปิดเผยข้อมูลต้องอยู่ใน format เดียวกันที่ทุกคนอ่านได้ ข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ขั้นตอนการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมดถ้าอยู่ใน format เดียวกันที่อ่านได้ การตรวขสอบจะง่ายขึ้นและวัดผลได้มากขึ้น ปัจจุบันเรามีโปรแกรมนี้อยู่แล้ว แต่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐกันเองและไม่เปิดเผยให้ประชาชน สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเห็น ทุกคนเข้าไปช่วยกันตรวจสอบได้