ลุยทันที! มท.2 บิน ซับน้ำตา พี่น้อง “เมืองแพร่” หลัง พายุ “ฮีโกส” ถล่มจมบาดาล

76

รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่  ลุยทันที ช่วยชาว จ.แพร่ จาก พิษ พายุ “ฮีโกส” ถล่ม ภาคเหนือและอีสาน ย้ำ ให้ทำตาม “แผนเผชิญเหตุ-แผนอพยพ” รักษาชีวิตพี่น้องประชาชน เป็นลำดับแรก

วันนี้ (21 ส.ค.63)​ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) พร้อมคณะ ลงพื้นที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเกิดจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดฝนตกชุก เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในจุดที่พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 20 ครัวเรือน ซึ่งในภาพรวมจังหวัดแพร่ ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุ”ฮีโกส” ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมืองแพร่ อ.สอง อ.ลอง อ.ร้องกวาง และอ.สูงเม่น โดยได้กำชับให้ผวจ.แพร่ ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และติดตามเรื่องการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมให้ครอบคลุม โดย รมช.มท. และคณะ ได้มอบอาหารกล่อง น้ำดื่ม และสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น

รมช.มท. กล่าวด้วย ว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์พายุต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ประเทศเป็นช่วงฤดูมรสุมของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากนี้มรสุมก็จะเคลื่อนตัวไปยังภาคใต้ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.ต่อไป โดยยังคงเน้นย้ำในเรื่องแผนเผชิญเหตุ-แผนอพยพ เป็นสำคัญ และขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้มีความเข้าใจถึงแผนและการประสานการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน รวมทั้งการประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือกับหน่วยงานภาคี เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูงสุด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนตกชุกและน้ำป่าไหลหลากในขณะนี้ เรายังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งการรายงานและช่วยเหลือสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที ซึ่งหากปริมาณฝนตกพื้นที่ภูเขาและพื้นที่สูงต่างๆ ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เชิงเขา ซึ่งพี่น้องประชาชนที่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ต้องเตรียมตัวทำการอพยพในทันทีและขอให้รักษาชีวิตเอาไว้ก่อนเป็นลำดับแรก

เพราะ ก่อนหน้านี้ จากเหตุการณ์พายุโซนร้อน “ซินลากู” ได้ทำมีผู้เสียชีวิตไป 3 ราย และสาเหตุหลักมาจากกระแสน้ำที่รุนแรงพัดพาทำให้เสียชีวิตทั้งสิ้น ดังนั้น พี่น้องประชาชนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการอพยพและติดตามสถานการณ์พายุ และเหตุฝนตกในทุกระยะตลอดช่วงฤดูมรสุมนี้ เพราะไม่มีใครต้องการใ้ห้เกิดการสูญเสียกับเหตุการณ์เหล่านี้อีก