มท. 2 จับมือ อนุกก.ฯ วุฒิสภา ลดอุบัติเหตุท้องถนน ยึดตาม “ปฏิญญาสต๊อกโฮม”

58

รมช.มหาดไทย จับมือ อนุกก.วุฒิสภา ศึกษาแนวทาง แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ยึด “กรอบปฏิญญาสตอกโฮล์ม” ให้ อปท.ร่วมมือกับทุกภาคส่วน รณรงค์ ลดความสูญเสีย ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้า เสียชีวิตไม่เกิน 1 หมื่นรายต่อปี

วันที่ 9 ก.ย. 63 เวลา 11.00 น. ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)เป็นประธานมอบนโยบายในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาและเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา ที่มี นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี เป็นประธาน โดยมี นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย และ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นภัยคุกคามที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 22,000 คน หากรวมยอดสะสม15 ปี ยอดสูญเสียมากถึง 300,000 คน รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้พยามบูรณาการทุกภาคส่วนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น ภายใต้แผนระดับประเทศ วาระ 2030 ยึดตาม “กรอบปฏิญญาสตอกโฮล์ม และเป้าหมายโลกในการกำหนดยุทธศาสตร์ ลดความเสี่ยง ได้แก่ ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มสุราแล้วขับ และ การขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยตั้งเป้าหมาย ให้อัตราการตายบนท้องถนนทยอยลดลง ในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จาก 2หมื่นกว่าราย ให้เหลือไม่เกิน 10,000 รายต่อปี

โดยให้มีแผนปฏิบัติการตามกลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 (ศปถ.จังหวัด /ศปถ.อำเภอ ศปถ.อปท) บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร มูลนิธิ จิตอาสา และประชาชน สนับสนุนให้ “ท้องที่และท้องถิ่น” สำรวจ วิเคราะห์ ปรับปรุง ซ่อมแซม ก่อสร้าง แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตรายในถนนชุมชนและท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะในการขับขี่ที่ปลอดภัย ให้เยาวชนภายในโรงเรียนต่างๆ และบังคับใช้ อุปกรณ์นิรภัย หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย อย่างเข้มข้น

“ขอขอบคุณคณะอนุกรรมการศึกษาฯ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบาย การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนจะบรรลุเป้าหมายลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการนำนโยบายไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง” รมช.มหาดไทย กล่าว