รมช.เกษตรฯ มอบ “สัณหพจน์” ประสาน แก้ข้อพิพาท ที่ดินทำกิน “เขาปู่-เขาย่า”

744

รองโฆษก พปชร. รุกประสานความร่วมมือ สงบศึกษาข้อพิพาท อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และชาวทุ่งสง นครศรีธรรมราช  ตามนโยบาย “บิ๊กป้อม” หวังเป็นโมเดลนำร่องแก้ปัญหาที่ดินทำกินทั่วประเทศ

วันที่ 5 ต.ค.63 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจาก ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน พื้นที่ 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1,5และ 6 ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กรณีชาวบ้าน มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินกับ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า โดยมีการแจ้งดำเนินคดีทางกฎหมายในหลายกรณี ทำให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน และเกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกันระหว่างภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ

โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำตก กำนันตำบลน้ำตก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการอยู่อาศัยและการทำกินในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ของชุมชน พ.ศ.2563

ทั้งนี้การจัดทำ MOU ดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และภาครัฐ ได้ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับการขับเคลื่อน เครือข่ายคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์คน เพื่อการอยู่ร่วมกัน ระหว่างป่ากับคน คนกับป่า ที่ไม่ขัดต่อระเบียบข้อกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยชุมชนสามารถบริหารจัดการพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ช่วยกันปกป้องดูแลพื้นที่ ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ตลอดถึงช่วยส่งเสริมอนุรักษ์พื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับระบบนิเวศ ซึ่งสามารถใช้เป็นโมเดลโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินทับซ้อนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต