“ชวน” รับ! คำวินิจฉัย ศาลรธน. ทำสภาฯป่วน เข้าทาง พปชร.ดาหน้า จี้แก้ รธน.60

428

ประธานสภาฯ ขอเวลาศึกษา คำวินิจฉัยศาลรธน. หลังชี้ขาด กมธ.ไม่มีอำนาจ เรียก บุคคล หรือ คณะบุคคล มาชี้แจงในสภาฯ เป็นการขัดกันของ กฎหมาย ขณะ สส.พปชร. ดาหน้าฟันธง ชี้เป็นจุดอ่อน รธน.ปี60 ที่ต้องรีบแก้ไข

วันที่ 8 ต.ค.63 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ.ร.บ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับรัฐสภาแล้ว ดังนั้น จากนี้ขอเวลาดูว่าจะมีผลต่อการทำงานกรรมาธิการอย่างไรบ้าง และต้องไปตรวจสอบอีกว่าคณะกรรมาธิการกี่ชุดที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 2554 มาตรา 5 ที่บัญญัติอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือ เรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวน หรือ ศึกษาอยู่นั้น ขัดต่อ มาตรา 8 ที่บัญญัติขั้นตอนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ และมาตรา 13 ที่กำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแย้งและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 129

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการยื่นร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้รับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหน.พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวออกคำสั่งการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน โดยนายไพบูลย์ ยอมรับว่าจากนี้ไป การทำหน้าที่ในสภามีปัญหาแน่ หากไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาชี้แจงได้

ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องมีการแก้ไข เพราะทำให้การทำงานของ กมธ.เกี่ยวกับการตรวจสอบยากขึ้น รวมทั้งการทำงานช่วยเหลือประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว. อาจจะทำให้หมิ่นเหม่และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ที่อาจจะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่พวกเรามีเจตนาจะช่วยเหลือประชาชนทำกมธ.เป็นเสือกระดาษ