“ศักดิ์สยาม”สั่ง!!กทพ.-กรมทางหลวง เร่งโครงการ”กะทู้-ป่าตอง”จี้รายงานผลใน1ด.

86

“ศักดิ์สยาม” นั่งหัวโต๊ะ ถกบูรณาการ ร่วมเดินหน้า ก่อสร้างโครงการ “กะทู้ -ป่าตอง” และทางหลวงสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว สั่ง กทพ. เป็นแม่งาน พร้อมอัพเดท 4 โครงการมอเตอร์เวย์ ของ กรมทางหลวง แนะทุกโครงการ ต้องรายงานผลภายใน 1 เดือน 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่อง การบูรณาการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และทางหลวง (ทล.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจร เช่น คอขวด และจุดเชื่อมต่อ (Missing Link) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทล. และ กทพ. ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการ โครงการทางพิเศษ และทางหลวงใน จ.ภูเก็ต ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 9.8 กม. และโครงการทางหลวงสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม.   “ยังมีส่วนที่เป็น Missing Link ระหว่างเกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 11.9 กม. ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 และเสนอให้มีการบูรณาการเส้นทางทั้งสามให้เป็นเส้นทางเดียว โดยให้ กทพ. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ ทล. ยังได้รายงานความคืบหน้าของโครงการทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง 4 โครงการ ได้แก่
1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว
2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ
4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง และ กทพ. ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้รับทราบ และมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
1. ให้ กทพ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการทางพิเศษ/ทางหลวงใน จ.ภูเก็ต(เมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ – ป่าตอง) และให้ ทล. สนับสนุนการดำเนินการของ กทพ. โดยพิจารณาความพร้อมของโครงการแต่ละช่วง และดำเนินการในช่วงที่มีความพร้อมก่อนส่วนช่วงที่เหลือให้เร่งรัดดำเนินการต่อไป
2. ให้ ทล. และ ทช. บูรณาการแก้ไขปัญหาโครงการสายบางปะอิน – นครราชสีมา ซึ่งมี Missing Link ระยะทางประมาณ 300 เมตร (อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช.) เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการเดินทาง
3. ให้ สนข. ศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาคอขวดบริเวณจุดปลาย จุดเชื่อมเส้นทางต่าง ๆเช่น บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วน
4. ให้ ทล. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางระบบสาธารณูปโภคบนถนนพระราม 2 เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านโครงสร้างทาง และการจราจรติดขัด
5. ให้ ทล. และ กทพ. ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) บินตรวจสอบสภาพปัญหาคอขวด การจราจรติดขัดและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้วย และ
6. ให้ ทล. และ กทพ. รวบรวมรูปภาพและวิดีโอในมุมสูง เพื่อประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าโครงการก่อน – หลัง เป็นระยะ

ทั้งนี้ ให้รายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งถัดไป ภายใน 1 เดือน