สหรัฐฯ นำรัฐบาลทั่วโลก เรียกร้อง กองทัพเมียนมา คืนอิสรภาพ “อองซาน ซูจี”

106

สหรัฐฯ นำรัฐบาลทั่วโลกเรียกร้อง ให้การฟื้นฟูประชาธิปไตยใน เมียนมา อย่างจริงจัง หลังกองทัพ นำโดย นายพลอ่อง มินลาย ก่อรัฐประหาร และจับกุมตัวนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน และนักการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง

วันที่ 2 ก.พ.64 สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รวบรวมปฏิกิริยาของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกที่มีต่อสถานการณ์ล่าสุดในพม่ามาดังนี้

สหรัฐอเมริกา # เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบหากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ถอยกลับ และเสริมว่า สหรัฐฯ คัดค้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ที่ส่งให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ชนะอย่างท่วมท้น แต่กลับมีการกล่าวหาถึงความผิดปกติในการเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองที่ทหารให้การสนับสนุน

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ ยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำภาคประชาสังคมทั้งหมด และเคารพต่อเจตจำนงของประชาชนชาวพม่า ที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ก่อนการรัฐประหาร วอชิงตันพร้อมด้วยชาติตะวันตกอีกจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้ทหารยึดมั่นต่อบรรทัดฐานประชาธิปไตยในถ้อยแถลงที่ออกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขู่ว่าจะเพิกถอนรัฐธรรมนูญของประเทศ

สหราชอาณาจักร # นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวประณามการรัฐประหารและการจำคุกอองซานซูจี โดยผู้นำอังกฤษทวีตข้อความว่า “คะแนนเสียงของประชาชนต้องได้รับความเคารพและผู้นำพลเรือนควรได้รับการปล่อยตัว”

สาธารณรัฐประชาชนจีน # จีนที่มักคัดค้านการแทรกแซงของสหประชาชาติในพม่าอยู่เป็นประจำได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขความขัดแย้ง “จีนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของพม่าและหวังให้ฝ่ายต่างๆ ในพม่าจะแก้ไขความขัดแย้งของพวกเขาได้อย่างเหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม” หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวแถลง

สหประชาชาติ # อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวประณามอย่างรุนแรงต่อการควบคุมตัวอองซานซูจี ประธานาธิบดีวิน มี้น และผู้นำคนอื่นๆ ของกองทัพ “พัฒนาการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายอย่างร้ายแรงที่มีต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า” สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ กล่าว

ญี่ปุ่น # ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทหารพม่าปล่อยตัวซูจีและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นมีคำแถลงเรียกร้องการปล่อยตัวผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่ถูกควบคุมตัว และขอให้กองทัพฟื้นฟูระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว

สหภาพยุโรป # ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ได้กล่าวประณามการรัฐประหารอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยระบุว่า ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งควรต้องได้รับความเคารพและกระบวนการประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

ออสเตรเลีย # มาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวเรียกร้องให้กองทัพเคารพหลักนิติธรรม แก้ไขข้อขัดแย้งต่างๆ ผ่านกลไกที่ถูกต้องตามกฎหมายและปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายโดยทันที

อินเดีย # กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระบุในคำแถลงว่า อินเดียได้ตั้งข้อสังเกตถึงพัฒนาการในพม่าด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง อินเดียมีความแน่วแน่ต่อการสนับสนุนกระบวนการการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า และเชื่อว่าหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตยควรต้องได้รับการสนับสนุน

ตุรกี # รัฐบาลตุรกี กล่าวประณามการเข้ายึดอำนาจและเรียกร้องปล่อยตัวนักการเมือง “เราขอประณามการยึดอำนาจของกองทัพพม่า ตุรกีคัดค้านการรัฐประหารทุกรูปแบบและเราหวังให้มีการปล่อยตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง บุคคลทางการเมือง และพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวไว้โดยทันที” กระทรวการต่างประเทศตุรกีระบุในคำแถลง

อาเซียน # กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ล่าสุดในพม่า และหวังให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียก็แสดงความวิตกกังวลเช่นกัน และเรียกร้องการข่มใจตนเอง แต่โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่า สถานการณ์นี้เป็นเรื่องภายใน “ความวิตกกังวลหลักของเราคือความปลอดภัยของพลเมืองของเรา กองกำลังทหารของเราอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมในกรณีที่เราจำเป็นต้องขนย้ายพวกเขาทางอากาศ หรือใช้เรือของกองทัพเรือนำพวกเขากลับประเทศหากจำเป็น” แฮร์รี โร้ก โฆษกผู้นำดีฟิลิปปินส์ กล่าว

บังกลาเทศ # คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศระบุว่า บังกลาเทศยึดมั่นและส่งเสริมค่านิยมและจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เราหวังว่ากระบวนการประชาธิปไตยและการจัดการรัฐธรรมนูญจะได้รับการสนับสนุนในพม่า ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เราปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพและความมั่นคงในพม่า

สแกนดิเนเวีย # นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ต่างประณามการยึดอำนาจของกองทัพ โดย กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ทวีตข้อความว่า เราเรียกร้องให้ผู้นำทหารยึดมั่นในบรรทัดฐานทางประชาธิปไตยและเคารพผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสวีเวนกล่าวว่า ผู้นำพลเรือนและคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องได้รับการปล่อยตัวทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า ทหารภายใต้การควบคุมของพลเรือนเป็นหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

แคนาดา # บ็อบ เร ทูตแคนาดาประจำสหประชาชาติ ทวีตว่า ทหารพม่าเขียนรัฐธรรมนูญในแนวทางนี้เพื่อให้พวกเขาสามารถทำสิ่งนี้ได้ “รัฐธรรมนูญปี 2551 ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจของทหารได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างแน่นหนาที่สุด” บ็อบ เร กล่าว