ค่าเงินริงกิตของประเทศมาเลเซียยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่อำเภอตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย

1774
นายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินริงกิตของประเทศมาเลเซียตกต่ำในรอบปีเกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน อีกทั้ง ค่าเงินยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงขณะนี้ 1 ริงกิต เหลือเพียง 7.8 บาท และมีแนวโน้มจะตกต่ำต่อไปอีก เพราะยังไม่มีปัจจัยใดๆ ในประเทศมาเลเซียที่จะส่งผลให้ค่าเงินริงกิตแข็งค่าขึ้นจากที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวกระทบกับเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอชายแดนโดยตรง เพราะรายได้หลักในพื้นที่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและคู่ค้าจากทางประเทศมาเลเซีย ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์พบว่า เศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่า ร้อยละ 30 เพราะยอดการสั่งซื้อลดลงไปจากเดิมจากปัญหาค่าเงินริงกิตตกต่ำ ประกอบกับทางการมาเลเซียเองก็มีการรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แทนการนำเงินตราออกไปต่างประเทศ ที่จะทำให้ค่าเงินลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะที่ คนไทยเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียเพื่อซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเงินบาทไทยแข็งค่ามากกว่า
ขณะที่ นายนิวัฒน์ จิรวิชญ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินริงกิตกระทบกับการท่องเที่ยวเพียงเล็กน้อย เพราะนักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาในพื้นที่ตามปกติ เพียงแต่ลดการใช้จ่ายลงไปจากเดิมตามสถานภาพทางเงิน ซึ่งทางด้านผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างที่เกี่ยวกับที่พักและการบริการ ก็มีการปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน นายคมสัน ศรีจรัสกุล ร้านเกี้ยข้าวสารตลาดรถไฟสุไหงโก-ลก กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าหลักของทางร้านมากกว่า ร้อยละ80 คือ ชาวมาเลเซีย เพราะชาวมาเลเซียนิยมบริโภคข้าวไทย และส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อไปครั้งละเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลกระทบจากค่าเงินริงกิตตกต่ำทำให้ลูกค้าชาวมาเลเซียลดปริมาณการสั่งซื้อลงไปมากกว่าครึ่ง ดังนั้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ จึงจำเป็นต้องหักเงินในราคาตามกลไกตลาดแบบรายวัน อาทิ 1 ริงกิต เท่ากับ 7.8 บาท ต่างจากร้านค้าปลีกที่จะหัก 1 ริงกิตเท่ากับ 7 บาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อค่าเงินลดลง และเน้นการให้บริการที่ประทับใจ โดยเปิดรับออเดอร์และส่งสินค้าทุกวันไม่มีวันหยุด