ดุสิตโพล ฟันธง!! หลังศึกอภิปราย ปชช.ให้คะแนน ฝ่ายค้าน ชนะ รัฐบาล

100

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่า ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล มองการเมืองไทยยังเหมือนเดิม จุดเด่นยกให้ภาพรวมฝ่ายค้าน ชี้จุดด้อยประท้วงบ่อย 

วันที่ 21 ก.พ.64 สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม10คน เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และติดตาม โดยสำรวจความเห็นจาก กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,712 คน ระหว่างวันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากช่องทางใด ส่วนใหญ่ติดตามผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 43.81

”จุดเด่น-จุดด้อย” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า จุดเด่นของการอภิปราย คือ ภาพรวมการซักฟอกของฝ่ายค้าน ร้อยละ 52.64 ส่วนจุดด้อย คือ การประท้วงบ่อย ทำให้เสียเวลา ร้อยละ 71.26

หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่คาดว่าการเมืองไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 55.40
ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “รัฐบาล” หลังจากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วเป็นอย่างไร ? ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ร้อยละ 43.25
ภาพรวมการให้คะแนนของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล (คะแนนเต็ม 10) ให้คะแนนเต็มสิบฝ่ายค้าน 6.90 คะแนน ให้คะแนนฝ่ายรัฐบาล 5.01 คะแนน

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นว่าภาพรวมทำงานได้ดี มีเนื้อหาน่าสนใจ เตรียมข้อมูลเชิงลึกมาอภิปรายให้เห็นภาพ โดยมองว่าหลังจบอภิปรายครั้งนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็น่าจะยังเหมือนเดิม และที่สำคัญ ประชาชนนั้นรู้สึก “ไม่เชื่อมั่น” ต่อรัฐบาล ถึงแม้ในสภา 10 รัฐมนตรีจะได้รับการไว้วางใจก็ตาม

ขณะที่ ดร.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร หลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ มาตรการ หรือ เครื่องมืออย่างหนึ่งในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ การตัดสินใจ รวมไปถึงความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฝ่ายนิติบัญญัติในการคานอำนาจของรัฐบาล และยังเป็นการขับเคลื่อนกลไกทางการเมืองให้เป็นไปตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย

ดร.ดังนภสร ระบุว่า ความสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีมากกว่าการมองเพียง “ผลโหวต” เนื่องจากผลนั้นอาจเกิดจากวิถีทางการเมือง เช่น การที่รัฐบาลมีฐานเสียงมากกว่า ฝ่ายค้านมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือ ด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม หากแต่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” มีความสำคัญในการที่จะสามารถเป็นต้นแบบของ วัฒนธรรมการเมืองที่ดี นั่นคือ การทำหน้าที่ในการใช้อำนาจของประชาชน ในการอภิปรายและชี้แจงด้วยวุฒิภาวะของผู้นำทางการเมือง การนำประเด็น ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงมาอภิปราย การใช้หลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อการตรวจสอบกับภาคประชาชน เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดกลไกในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง