ศาลฯนัด 15 มี.ค.นัดฟังคำสั่งย้าย “โตโต้-ไผ่-ไมค์ 3แกนนำ มวลชน ขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ ขณะ ทนายข้องใจ ราชทัณฑ์ อ้างส่งขังเรือนจำธนบุรีก่อนแจ้งศาล ชี้เป็นคดีเดียวกันกับ”เพนกวิน” ควรต้องขังสถานที่เดียวกันเพื่อสดวกในการปรึกษาทนาย
วันที่11 มี.ค.64 เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลไต่สวนกรณีทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้นำตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่มราษฎร นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จำเลยคดีร่วมกันหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ป.อาญา ม.112 และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำกลุ่ม Wevo ผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ ซ่องโจร ฯ ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี มาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ให้ตรงกับหมายขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ศาลได้ไต่สวนทั้งสามและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แต่ยังไม่เสร็จสิ้น และนัดไต่สวนต่อในวันนี้
ศาลจึงให้เบิกตัวนายปิยรัฐ, นายจตุภัทร์ และ นายภาณุพงศ์ จากเรือนจำพิเศษธนบุรีมาศาลอาญา เพื่อทำการไต่สวนต่อ โดยเมื่อเบิกตัวมาถึง ทั้งสามซึ่งถูกควบคุมตัวลงจากรถตู้เรือนจำเข้าห้องคุมขังใต้ศาล ได้ชูสามนิ้วทักทายผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง ขณะที่ในการไต่สวนมีญาติ ผู้ใกล้ชิด ทนายความ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางมาร่วมรับฟังการไต่สวน อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการไต่สวน
ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนแล้ว นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 15 มี.ค. นี้ เวลา 11.00 น. เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 ที่มีการยื่นฟ้องแล้วศาลไม่ให้ประกัน ไผ่, ไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้พาทั้งสามคนไปคุมขัง โดยส่งรุ้งไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
หลังจากนั้นรถได้อ้อมพาไผ่และไมค์ไปที่เรือนจำพิเศษธนบุรี นี่เป็นคำบอกเล่าจากตัวจำเลย ซึ่งทนายความและญาติไม่มีใครทราบ จนมาทราบข่าวจากที่ผู้บัญชาการเรือนจำแถลงว่า เพื่อลดความแออัด จึงนำทั้งสองไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งตนมาดูหมายขังของศาลระบุว่า ให้นำทั้งสองไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และตาม ป.วิ.อาญา ก็บัญญัติไว้ว่าให้ขังยังสถานที่ซึ่งศาลออกหมายขัง แต่สอบถามไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี ก็ได้ความว่ามีการโอนย้ายไปคุมขัง เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา และตรวจสอบพบว่า ผู้บัญชาการเรือนจำเพิ่งทำหนังสือแจ้งศาลเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากเราได้ยื่นไต่สวนคำร้องแล้ว เราก็ค้านไว้ว่าตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล
นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ราชทัณฑ์ได้อ้างในการไต่สวนว่า ถ้าหากมีเหตุจำเป็น สามารถย้ายผู้ถูกคุมขังได้ แล้วค่อยรายงานศาล หากเป็นเหตุด่วนให้ย้ายได้ ถ้าอ้างความปลอดภัย ก็แปลว่าเรือนจำพิเศษธนบุรีมีความปลอดภัยมากกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ใช่หรือไม่ ทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเรือนจำชั้นหนึ่งแล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องน่าสงสัยที่เราตั้งข้อสังเกต โดยวันที่ 15 มี.ค. นี้ ที่ศาลนัดฟังคำสั่ง ยังเป็นวันนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานคดีแกนนำราษฎรชุมนุมวันที่ 19 – 20 ก.ย. 2563 พนักงานอัยการได้ยื่นขอรวมสำนวนระหว่างจำเลยที่ถูกฟ้องชุดแรก คือกลุ่มนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 4 คน กับชุดราษฎร 18 คน ที่ฟ้องเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทนายความคงไม่คัดค้านการรวมสำนวน เพราะเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ตรงนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานชุดเดียวกันต้องคุมขังไว้เรือนจำเดียวกัน เพื่อจะได้ปรึกษากันเวลาทนายความไปเยี่ยม จะได้เบิกตัวมาคุยเรื่องคดีด้วยกัน ส่วนที่ราชทัณฑ์อ้างเรื่องเพื่อความปลอดภัย ตนว่าฟังไม่ขึ้น ตรงนี้เป็นการละเมิดสิทธิ เราจึงมาร้องศาล
เมื่อถามถึงข้อสงสัยว่าราชทัณฑ์อาจจะเกรงเรื่องม็อบชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ราชทัณฑ์ก็ต้องมาขออนุญาตต่อศาล