“ชวน” ยอมรับ!! กรธ.จงใจเขียนให้ รธน.แก้ยาก แต่ก็สามารถทำได้

93

ประธานรัฐสภา ยัน สมาชิกรัฐสภา สามารถ ยื่นแก้ รัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ยอมรับทำได้ยาก เพราะผู้ร่างจงใจเขียนไว้เพื่อไม่ให้มีการแก้ไข เพราะต้องมีเงื่อนข ด้านตัวเลขคะแนนเสียงจากฝ่ายต่างๆ ถึงจะเข้าข่ายทำได้ตามกฎหมาย

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไปเมื่อวานนี้ ก็ถือว่า สมาชิกรัฐสภายังสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตราได้ในสมัยประชุมหน้า ส่วนกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะกฎหมายก็ไม่มีเรื่องของการทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไร ซึ่งก่อนนี้เคยได้คุยกับฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงไม่สามารถตอบได้ต้องรอดูในวันนี้ที่สภาจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติในวาระสองและสาม ซึ่งมีมาตรา 10 ที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ จึงต้องดูว่าจะไปอย่างไร

(มาตรา 10 เมื่อมีกรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าเก้าสิบวันและไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาในการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยสะดวกให้นายกรัฐมนตรีเพื่อทราบพร้อมกับส่งให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย)

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจะต้องถามศาลรัฐธรรมนูญถึงความชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นงานของฝ่ายบริหาร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย วิธีการปฏิบัติอย่างไร ไม่แน่ใจว่าศาลทราบหรือไม่

ส่วนขณะนี้เป็นไปไม่ได้แล้วใช่หรือไม่กับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายชวน ยอมรับว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จงใจเขียนให้มีการแก้ไขได้ยาก “เขาเขียนเพื่อไม่ให้แก้ไข หลักๆ คือ เขียนให้แก้ยากที่สุด ทำให้ขบวนการมันไม่ง่ายตั้งแต่ต้น เงื่อนไข คือ ต้องมีคะแนนเสียงจากฝ่ายต่างๆ ถึงจะแก้ได้ ด้วยเจตนารมณ์ คือ ต้องการไม่ให้แก้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้เสียเลย ซึ่งหากแก้แบบรายมาตราก็จะง่ายกว่า โดยกรณีร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้เสนอบอกว่า เป็นการแก้แบบรายมาตรา แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้นี้จะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญปี 2560” นายชวนกล่าว