“อภิสิทธิ์”เสียดาย!! “รัฐสภา”หักดิบคว่ำ “ร่างรธน.”ชี้ ส่อจุดชนวนขัดแย้งลาม

150

อดีตนายกฯ เสียดาย รัฐสภาคว่ำร่างรธน.อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ฝังรากลึกในประเทศไทย เรียกร้องร้องผู้มีอำนาจ อย่าคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น ขณะเดียวกันเห็นว่าการแก้ไขเป็นรายมาตราก็ยังทำได้ยาก

วันที่ 19 มี.ค.64 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความเห็นต่อการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาว่า ควรใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากนี้เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ หรือ รายมาตรา เนื่องจากการแก้ไขรายมาตราก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะมีการผูกโยงกันไว้ จึงเป็นเรื่องอันตราย เพราะมีคนจำนวนมากเห็นจุดอ่อน ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ จะเกิดสภาพความอึดอัด ประชาชนจะเลือกคนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังทำไม่ได้ จะทำให้เกิดความตึงเครียด และ มีเสียงต้องทำอย่างไรจึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ ในเมื่อกลไกตามรัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้ทำภายใต้รัฐธรรมนูญนี้

เมื่อถามว่า มีโอกาสเพิ่มแรงส่งให้ผู้ชุมนุมมากขึ้นจากการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากลไกตามรัฐธรรมนูญถูกจำกัดไปเสียหมด คนก็จะต้องแสดงพลัง หรือ แสดงออกในทางอื่น จึงน่าเสียดายเพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะสร้างความปรองดองและลดความตึงเครียดความขัดแย้ง เพราะจะเป็นเวทีที่นำความคิดต่างมาคุยกันในระบบได้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่ตรงนี้ไม่เดินต่อ จึงอยากให้รัฐบาลคิดถึงหลักความถูกต้อง มองโครงสร้างระยะยาว อย่าเอาความสะดวกการเมืองระยะสั้นมาเป็นตัวชี้ว่า อยากทำหรือไม่อยากทำอะไร เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เพราะจะยิ่งเป็นอันตรายและทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

“ถึงแม้ว่าพลังการเคลื่อนของมวลชนอาจจะดูอ่อนกำลังลง แต่ผมเห็นว่าคนที่มีความคิดสนับสนุนข้อเรียกร้องแม้จะไม่ทั้งหมด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด นับวันคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาก็จะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เห็นด้วยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว หากไม่ตอบสนองอะไรเลย ก็เหมือนกับรอเป็นระเบิดเวลา ยิ่งสะสมประเด็นความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์ในอนาคตยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สโลแกนเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ วันนี้ถ้าทัศนคติผู้นำยังเป็นอย่างนี้ ความสงบจะจบที่ตรงไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การที่สถานการณ์การเคลื่อนไหวของมวลชนอาจดูเบาบางลง แต่สังคมกลับไม่ได้ขัดแย้งน้อยลง แม้ผู้ชุมนุมจะจำนวนน้อยลง แต่คนที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือ ระบบในหลายจุดมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจอาจพึงพอใจ บรรยากาศเอื้อให้ตัวเองรักษาอำนาจได้ และการเกิดเหตุรุนแรงแบบสุดโต่งระหว่างการชุมนุมมากขึ้น ก็จะเพิ่มความชอบธรรมในการหาความนิยมคือ ต้องเลือกเพื่อความสงบ แต่ทั้งหมดมันเป็นความสงบผิวเผินไม่ยั่งยืน มีแต่สะสมปัญหาสำหรับอนาคตประเทศ ถ้าคิดแต่การรักษาอำนาจ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศอยู่แล้ว จึงอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจจะตัดสินใจอย่างไร เป็นบททดสอบว่า เอาผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง