“ทวี” แฉ!!”จีที 200″ไม้ลวงโลก ผู้สั่งการลอยนวล คนขายยังได้งานกลาโหม สตช.

100

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ แฉซ้ำ จีที200 และ อัลฟ่า6 หรือ ไม้ชี้ตรวจสอบระเบิดลวงโลก มูลค่ากว่า 1,500ล้านบาท ผู้สั่งการยังลอยนวล ขณะเดียวกันบริษัทที่ขายยังได้งานกลาโหม-สตช.

วันที่ 24 มี.ค.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการตรวจสอบจีที 200 โดยระบุว่า “ไม้ชี้ลวงโลก จีที 200 และอัลฟ่า 6” อย่าลอยนวลผู้สั่งการ เมื่อระหว่างปี 2550-2552 มีหน่วยงานราชการของรัฐที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบกว่า 16 หน่วยงาน ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด รุ่น จีที 200 และอัลฟ่า 6 จากบริษัทเอกชน รวมกันกว่า 1,300 เครื่อง มูลค่าเกินกว่า 1,500 ล้านบาท

กองทัพบก ในช่วงสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเสธทบ. และ รอง ผบ.ทบ. เป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติจัดซื้อเครื่องจีที 200 มากที่สุดจำนวน 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยช่วง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรมว.มหาดไทย มีการซื้อรวมจำนวนทั้งหมด 568 เครื่อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 422,943,300 บาท หน่วยงานสังกัดกระทรวงได้จัดซื้อ เช่น กรมการปกครอง ซื้อเครื่อง 542 เครื่อง วงเงิน 382,880,500 บาท หรือจังหวัดยะลา สั่งซื้อจำนวน 17 เครื่องวงเงิน 31,460,000 บาท เป็นต้น ยังไม่รวมหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดซื้อเครื่อง จีที 200 และอัลฟา 6 อีกจำนวนมาก

ความลับแตกเมื่อ ศาลโอลด์ เบลีย์ ของอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินจากนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม จีที 200 เป็นการหลอกลวงซึ่งปรากฏข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ต่อมาปรากฏว่ารัฐบาลไทย มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ทดสอบเครื่องจีที 200 และอัลฟา 6 ผลปรากฏว่าไม่มีประสิทธิภาพใช้งานไม่ได้ตามที่กล่าวอ้าง จึงดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนผู้ขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีแล้ว 22 คดี ในความผิดฐานฉ้อโกง กับ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ “ฮั้วการประมูล” และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลแขวงดอนเมือง จนศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกามีคำพิพากษา

ส่วนการกระทำผิดของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการป.ป.ช เป็นผู้ดำเนินคดี ซึ่งเร็วๆ นี้ได้เสนอข่าวจากสำนักข่าวอิศราว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯคดีดังกล่าว ที่มีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจีที 200 ไปแล้วกว่า 200 ราย คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหตุเกิดมาแล้วประมาณ 10 ปีเศษ

จากผลคำพิพากษาในคดีบริษัทผู้ขายเป็นจำเลยของศาล ทำให้บริษัทที่ขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 และกรรมการถูกลงโทษจำคุกและปรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยดังปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2563 ลง 16 มกราคม 2563 ความผิดฐานฉ้อโกง ที่บริษัทจำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอัลฟ่า 6 รุ่นคอมแทร็ค ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย 8 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1.3 ล้านบาท รวม 10,400,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษาบริษัทมีความผิดฉ้อโกง ลงโทษปรับ และให้บริษัทคืนเงิน 10,400,000 บาทแก่ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.)ฯ ผู้เสียหาย

ปรากฏความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน กับระบบยุติธรรมที่ไม่อาจประเมินค่าได้ จากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก ที่ปรากฏในศาล เช่น คดีระหว่างปี 2551-2552 เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุระเบิดที่หน้า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาสุไหง-โกลก จึงรีบเดินทางเข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุ เวลาต่อมามีหน่วยชุดกู้และเก็บวัตถุระเบิดของตชด. ได้นำเครื่องมือตรวจค้นวัตถุระเบิด จำไม่ได้ว่าเป็นเครื่องจีที 200 หรือ อัลฟ่า 6 (ตามคำให้การพยาน) ตรวจรถยนต์คันที่จอดอยู่เดินอยู่ประมาณ 4 รอบปรากฏไม่พบสิ่งผิดปกติและได้นำมาเดินตรวจอีกครั้ง ปรากฏว่าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้นักข่าวเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายคน

หรืออีกคดี เจ้าหน้าที่ทหารใช้เครื่อง จีที 200 และอัลฟ่า 6 ในคดีลอบยิงปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลครองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ทหารแจ้งว่าไม่มีระเบิด ตำรวจจึงเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นทันที เป็นต้น จึงเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้

นอกจากความเสียหายดังกล่าวแล้วยังเกิดความเสียหายต่องบประมาณทางราชการเนื่องจากหน่วยงานรัฐจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 และ จีที 200 มีราคาที่แตกต่างกันอย่างมากกำหนดราคาซื้อขายตามอำเภอใจ ไม่ได้สนใจตามระเบียบของทางราชการ ดังนี้

กรณี “เครื่องจีที 200” พบว่าบริษัทเอวีเอแซมคอม ขายเครื่องจีที 200 มีราคาต่ำสุด เครื่องละ 550,000 บาท และขายสูงสุดเครื่องละ 1,200,000 บาท ต่างกันประมาณ 965,000 บาท เช่น ขายให้สถานีตำรวจภูธรชัยนาท เครื่องละ 550,000 บาท, ขายให้กองทัพบกเครื่องละ 900,000 บาท (จำนวน 757 เครื่อง ปี 50 จำนวน 2 เครื่อง,ปี 51 จำนวน 208 เครื่อง และปี 53 จำนวน 547 เครื่อง) ขายให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เครื่องละ 1,160,000 บาท ( จำนวน 2 เครื่อง) และ 1,120,000 บาท( จำนวน 4 เครื่อง) และขายให้กรมราชองครักษ์ เครื่องละ 900,000 บาท (จำนวน 2 เครื่อง) และ 120,000 บาท (จำนวน 6 เครื่อง) ส่วนบริษัท โกลเบิล เทคนิคอน จำกัด ขายให้กองทัพเรือเครื่องละ 1,380,000 บาท (จำนวน 12 เครื่อง) 930,000 บาท (จำนวน 2 เครื่อง) และ 1,020,000 บาท (จำนวน 24 เครื่อง) เป็นต้น

“เครื่องอัลฟา 6 “ มีการขายราคาต่ำสุด เครื่องละ 400,000 บาท และขายสูงสุดเครื่องละ 1,850,000 บาท ต่างกันประมาณ 1,450,000 บาท คือ
-บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด ขายให้จังหวัดยะลา เครื่องละ 1,850,588 บาท (จำนวน 17 เครื่อง เป็นเงิน 31,460,000 บาท)
-บริษัทแจ๊คสัน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขายให้กองบัญชาการกองทัพไทย เครื่องละ 1,300,000 บาท แต่ขายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เครื่องละ 424,848 บาท
-บริษัทเอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ขายให้จังหวัดพิษณุโลกเครื่องละ 1,647,800 บาท เป็นต้น

จึงเป็นที่สงสัยว่า เมื่อเครื่องดังกล่าวเมื่อดูจากลักษณะภายนอกเห็นได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพ

ใครเป็นคนแอบสั่งการ การตรวจรับของคณะกรรมการตรวจรับของแต่ละหน่วยงานรับพัสดุดังกล่าวไปได้อย่างไร? หน่วยงานรัฐบางแห่งอ้างว่าได้ตรวจสอบแต่เพียงภายนอกว่ามีปริมาณ ครบหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพให้ครบตาม (TOR) คณะกรรมการจัดซื้อ , คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ผู้ลงนามในสัญญา หัวหน้าหน่วยงาน อธิบดี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือข้าราชการการเมือง ที่เกี่ยวข้องต้องในการกระทำความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำลังไต่สวนในความผิดตามกฎหมายอาญาในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,ผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 ความผิดทางวินัยด้วย

“ไม้ชี้ลวงโลก จีที 200 ภาค1” เกิดช่วงปี พ.ศ.2550-2553 การจัดซื้อหรือเป็นผู้อนุมัติ จีที 200 ในส่วนกองทัพบกในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ฯ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และพล.อ.ประยุทธ์ ฯ เป็นเสนาธิการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก หรือ “2ป” ที่ปัจจุบันเป็นที่ยุติโดยคำพิพากษาของศาลแล้วว่า “เครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ทำจากพลาสติกแข็งสองแผ่นประกบกัน ภายในเครื่องไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ มีเพียงเสาอากาศอันเดียวที่เคลื่อนไหวหมุนได้และมีแผ่นการ์ดภายในพบว่าเป็นกระดาษสีดำ 4 แผ่น ประกบกัน ไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใด ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบยาเสพติด ดินปืน หรือวัตถุระเบิด..”

ซึ่งบุคคลทั่วไปแม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทราบได้ทันทีว่าใช้งานไม่ได้ ที่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล และ บุคคลต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อจัดจ้างอื่น ถูก แจ้งข้อกล่าวหา แล้ว “2ป” ก็จะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยเช่นเดียวกัน

“ไม้ชี้ลวงโลก จีที 200 และอัลฟา 6 ภาค2” เกิดช่วง “2ป” คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากผลคำพิพากษาคดีอาญา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังมีคดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางแพ่งที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลจากการซื้อเครื่องดังกล่าว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ตามสัญญาจะต้องนำเงินกลับคืนมา และดำเนินการหาผู้รับผิดชอบนำเงินงบประมาณที่ได้เสียหายไปจากการฉ้อโกง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและการทุจริตประมาณ 1,500 ล้านบาทกลับคืนมา ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กระทรวงได้ใช้เงินงบประมาณส่วนกลาโหมซื้อ และฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กระทรวงใช้งบประมาณส่วนของมหาดไทยซื้อ

ข้อมูลขณะนี้หน่วยงานกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ที่ทั้ง “2 ป” กำกับดูแล ละเว้นเพิกเฉยไม่ขึ้นบัญชีดำกับ บริษัทเอวีเอเเซทคอมผู้ขายจีที 200 และบริษัท แจ็คสันอีเล็คโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทเอ็ม-แลนด์ดาร์ช จำกัด บริษัท ยูจีซีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอเอสแอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด บริษัทเปโตรกรุงเทพ จำกัด โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในการเสนอชื่อ บริษัท ผู้ขายหรือผู้บริหารที่ถูกตัดสินลงโทษ ให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อจะได้ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ค้าขายกับรัฐได้อีก และให้รวมทั้งผู้ที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น บทลงโทษนี้ยังให้รวมไปถึงนิติบุคคลอื่นในกิจการประเภทเดียวกันที่มีชื่อเป็นผู้ทิ้งงานร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย (มาตรา 29(5) มาตรา 109 และ 120 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อ 193 และข้อ 196)

ปัจจุบันพบว่าบริษัทที่ขาย จีที 200 และอัลฟ่า 6 ยังขายสินค้าให้กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างปกติสุข แม้ต้องคำพิพากษาว่า “ฉ้อโกง” จนกระทั่งบางบริษัทได้เปลี่ยนจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับงานของทางราชการ เนื่องจากการขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน (Blacklist) เป็นมาตรการตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของรัฐถูกละเว้นไม่ดำเนินการ ถือว่า “2 ป” ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณี “ไม้ชี้ลวงโลก จีที 200 และอัลฟา 6 ภาค2” ที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 บัญญัติว่า “ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไต่สวน ต่อไป