“วราวุธ” ชี้!! แก้อำนาจ “ส.ว.ไม่ง่าย” เปรียบเหมือนตัดแขนเขาทิ้ง ต้องคุยกันก่อน

178

ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย เปรียบเหมือนไปตัดแขนเขา ต้องหารือกันก่อน ระบุ ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มี.ค. 64 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึง แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ว่า จะต้องมีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนากันก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เม.ย. นี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี? ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่เราพูดมาเสมอว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

ต่อข้อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คนๆนึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจส.ว.จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่ ส.ว.รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย ส.ว.ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของส.ว.ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่า ประเด็นที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯคงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ๆจะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุด คงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน