ชนะถล่มทลาย! นิสิตจุฬาฯ โหวตท่วมท้น “เนติวิทย์” นั่ง นายกสโมสรนิสิตฯ

445

นิสิตจุฬาฯ โหวต “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” นั่ง นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ด้วยคะแนนถล่มทลาย พลิกเอาชนะ ทีมคู่แข่งจาก คณะวิศวกรรม ที่ผูกขาดเก้าอี้ นายกฯอบจ.มาถึง7ปี ส่วนทีมบริหารของพรรคก็ได้รับเลือกยกทีมเช่นกัน

วันที่ 31 มี.ค.64 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเลือกตั้ง องค์การบริหารสโมสรนิสิต ประจำปีการศึกษา 2564 โดยปิดการลงคะแนนไปเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

เพจ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลคะแนนไม่เป็นทางการระบุว่า ผลการลงคะแนนที่ประมวลผลโดยระบบผ่าน application CU NEX โดยผลอย่างเป็นทางการจะตามมาในวันที่ 5 เมษายน 2564 สำหรับผู้ชนะคือ หมายเลข 1 คือ นายเนติวิทย์ ได้คะแนน 10,324 ทิ้งห่าง หมายเลข 2 ที่ได้คะแนน 2,030 ขณะที่ หมายเลข 3 ได้คะแนน 695 โดยมีคะแนนงดออกเสียง งดออกเสียง 1,642 จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 26,219 โดยมีผู้มาใช้สิทธิ 14,691 หรือ ร้อยละ 56.03

ทั้งนี้ในส่วนสมาชิกตำแหน่งอื่นๆ ก็เป็นทีมเดียวกับนายเนติวิทย์ ทั้งิส้น อาทิ ตําแหน่ง อุปนายกคนที่ 1 และ 2 เลขานุการ ประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์ ประธานฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม ประธานฝ่ายวิชาการ ประธานฝ่ายกีฬา ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบําเพ็ญประโยชน์ และ เหรัญญิก

สำหรับ นายเนติวิทย์ เคยเป็นนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ สมัยมัธยมฯ เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เคลื่อนไหวทางการเมือง สิทธิ มาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ เช่นเรื่องทรงนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณท์ทหาร

เนติวิทย์ เคยชวน โจชัว หว่อง นักกิจกรรมคนดังของฮ่องกง มาปาฐกถา ที่จุฬาฯ ก่อนถูกล็อกตัวไม่ให้ออกจากสนามบินเข้าไทย และถูกส่งกลับฮ่องกงจนเป็นข่าวดัง เคยได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ในปี 2560 เนติวิทย์และสมาชิกสภานิสิตฯ อีก 7 คนเดินออกจากพิธีของมหาวิทยาลัยจนเป็นข่าวดัง รองอธิการบดีจุฬาฯ สั่งตัดคะแนนความประพฤติ ทำให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ นายเนติวิทย์ต่อสู้จนถึงชั้นศาลปกครองจนชนะคดี

ต่อมา ยังเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประท้วงต่อต้าน คสช. และถูก คสช. ฟ้องร้อง ว่าเป็นผู้นำการประท้วง ละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อมา ศาลสั่งปล่อยตัวกับนักเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอ “รางวัลสิทธิมนุษยชน” ประเภทเด็กและเยาวชนจากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนให้เขา แต่เขาปฏิเสธ ใน ปี 2561 เนติวิทย์เป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 โดย สำนักข่าวสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ และได้รับเชิญให้เป็น 1 ในผู้กล่าวปาฐกถางาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันเนติวิทย์ กำลังศึกษาสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ล่าสุดได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

สำหรับตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ย้อนหลัง 10 ปี ส่วนใหญ่ตกเป็นของนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ถึง 7 ปี มีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 2 ครั้ง และคณะรัฐศาสตร์ 1 ครั้ง