อะแอม! แจงงบประมาณ “พาคนกลับบ้าน” 106 ล้านไม่มีหัวคิว

324

  พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า งบประมาณในโครงการพาคนกลับบ้าน ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 106 ล้านบาทเศษ ตามที่ปรากฏเป็นเอกสาร และศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา นำมาเผยแพร่นั้น เกือบทั้งหมดเป็นงบในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกเป็น 3 ส่วน คือ

1.งบประมาณ 96 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านสันติสุข ซึ่งจะก่อสร้างอาคาร ที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภค ถนน โรงเรียน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดย ศอ.บต.เลือกพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในการจัดสร้าง “หมู่บ้านสันติสุข” รองรับ “คนกลับบ้าน” ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของโครงการพาคนกลับบ้านในภาพรวม

  “โครงการพาคนกลับบ้านในปัจจุบันดำเนินการอย่างเป็นระบบ ผิดกับเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยเป็นระบบนัก แต่ขณะนี้ดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่รับรายงานตัว อำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากใครติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิจารณาแล้วถ้าปลดหมายได้ก็ปลด คนไหนมีหมาย ป.วิอาญา ก็ดำเนินกรรมวิธี มีการปรับทัศนติตามโครงการประชาร่วมใจ เพราะบางคนถูกบ่มเพาะ ซุมเปาะ (สาบานตนต่อคัมภีร์อัลกุรอาน) และบิดเบือนหลักการทางศาสนา จึงต้องมีการปรับทัศนคติก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ สร้างงาน สร้างอาชีพ อบรมวิชาชีพตามความต้องการของแต่ละคน โดยมีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจัดอบรมให้ และแจกจ่ายอุปกรณ์การปกครองอาชีพ ก่อนส่งคืนสู่สังคม”

“ที่ผ่านมาคนกลับบ้านที่ต้องกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาเดิม บางคนไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย ทาง ศอ.บต.จึงทำโครงการบ้านสันติสุขเพื่อรองรับกลุ่มที่เข้ารายงานตัวและฝึกอาชีพแล้ว แต่ไม่มีความมั่นใจในการกลับภูมิลำเนา ก็ให้มาพักอยู่ชั่วคราวก่อนที่บ้านสันติสุข ซึ่งทาง ศอ.บต.มีที่พักให้ และมีฟาร์มสำหรับประกอบอาชีพได้ โดยเลือกพื้นที่ อ.ปะนาเระ ในการสร้างหมู่บ้านสันติสุข” พ.อ.ปราโมทย์ ระบุ

2.งบประมาณ 10 ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของ ศอ.บต.เช่นกัน เป็นโครงการจัดตั้งกลุ่มผฺู้ร่วมสร้างสันติสุขในระดับอำเภอ โดยเป็นแนวคิดของ ศอ.บต.เพื่อขยายผลในพื้นที่ให้คนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยไปตั้งชมรมพาคนกลับบ้านแต่ละอำเภอ และให้นายอำเภอดูแลขับเคลื่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่ยังไม่กล้าเข้าร่วมโครงการ

   “งบประมาณส่วนนี้ก็จะใช้จัดประชุม ตั้งกลุ่มอาชีพเพิ่มเติมขึ้นมาในชุมชน เช่น พอกลับบ้านไป ก็ตั้งกลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่ ก็ใช้งบส่วนนี้ขับเคลื่อนผ่าน ศปก.อำเภอ (ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ) โดยจัดทำทุกอำเภอที่มีเป้าหมายพาคนกลับบ้าน” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

3.งบประมาณของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มี 3 ล้านบาท เป็นงบปฏิบัติการ ใช้ตลอดปี ทั้งประชุมพบปะ สร้างความเข้าใจ

      “กรอบงบประมาณ 106 ล้านบาทของ ศอ.บต.ใช้เพื่อโครงการบ้านสันติสุขโดยเฉพาะ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้เป็นสมบัติของใคร แต่ให้คนที่เข้าร่วมโครงการแล้วยังรู้สึกหวาดระแวง ไม่มั่นใจ สามารถไปอยู่ชั่วคราว คล้ายๆ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ขณะที่ กอ.รมน.มีงบ 3 ล้านบาทเท่านั้น”

โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันด้วยว่า เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างรัดกุม ยืนยันว่าผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้ามารายงานตัว รัฐไม่มีเงินให้ แต่จะให้อาชีพ เมื่อผ่านกระบวนการอบรมวิชาชีพ ทางศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็จะแจกอุปกรณ์ประกอบอาชีพ เพื่อให้ประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันก็มีหลายกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องการทำมาหากิน

ส่วนที่มีข่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเงินไปช่วยเรื่องการประกันตัว สำหรับผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีหมายจับในคดีอาญานั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะเงินที่นำไปจ่ายเรื่องประกันตัว ใช้เงินกองทุนยุติธรรม ซึ่งทางยุติธรรมจังหวัดมีอยู่แล้ว และเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น ร้องว่าถูกกลั่นแกล้งจนต้องถูกออกหมายจับ ก็สามารถขอใช้เงินกองทุนยุติธรรมในการต่อสู้คดีได้

  “สำหรับการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังที่ไปขับเคลื่อนงานพาคนกลับบ้าน เพื่อให้หาผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมโครงการให้ได้มากๆ นั้น เรื่องนี้ไม่มีแน่นอน เพราะทหารเราปฏิบัติงานตามหน้าที่ มีเบี้ยเลี้ยงในการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้ว ไม่มีเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติม” โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุทิ้งท้าย