โฆษกสธ.เชื่อ!!”แอสตร้าเซนเนกา” พร้อมปฏิบัติตามสัญญา ส่งมอบวัคซีนทันมิ.ย.​64

51

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน บริษัทผู้ผลิตวัคซีน”แอสตร้าเซเนกา” สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทัน ตามสัญญา ภายในเดือน มิ.ย.2564 ขณะเดียวกัน ชี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อในพื้นที่ กทม.มีจำนวนมาก เพราะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อกังวลเรื่อง บริษัท แอสตร้าเซนเนกา อาจส่งมอบวัคซีนไม่ทันเดือนมิถุนายน ว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิ.ย.64 แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือน มิ.ย. และได้รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางบริษัท ต้องปฏิบัติตามสัญญา ส่วนการบริหารจัดการ ทางภาครัฐ ได้มีแผนสำรอง สำหรับทุกสถานการณ์ และจะทำอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ไทยพ้นจากมหาวิกฤติครัังนี้โดยเร็วที่สุด

ส่วนการจัดสรรวัคซีน แอสตร้าเซนเนกา ที่พบว่าต่างจังหวัดมีปริมาณสูง แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาด เนื่องจากเป็นจัดสรรตามกลุ่มอายุประชากรผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง อย่างในพื้นที่จังหวัดสกลนครเป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีการจัดสรรวัคซีนไปให้ผู้สูงอายุตามจำนวนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ ส่วนจังหวัดนนทบุรี แม้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย จึงจัดสรรเท่าจำนวนจริงของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดสรรวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงยอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการบริหารจัดการในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยว่า เป็นไปตามข้อสังเกตุของนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ข้อมูลว่าระบบสาธารณสุข กทม. เป็นเขตปลอด กระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีทรัพยากรมาก แต่ด้านสาธารณสุขมีความเข้มแข็งน้อยกว่าต่างจังหวัดหลายเท่าตัว ยกตัวอย่าง เช่น ในต่างจังหวัดยังมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ คนที่ต้องการที่จะผ่าไส้ติ่ง สามารถเดินเข้าไปแอดมิดและผ่าตัดได้เลย ในขณะที่คนกรุงเทพฯ จะต้องหาโรงพยาบาล หรือ อาจต้องเป็นของเอกชน เพราะไม่มีโรงพยาบาลประจำเขต นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการระบาดในกรุงเทพฯ จึงมีปัญหาเรื่องการหาเตียงของผู้ป่วย​

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุรพงษ์ เชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แต่การให้ความสำคัญของท้องถิ่นต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะ กทม. จะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าโครงสร้างของ กทม. อาจมีหลายเรื่องที่ซับซ้อน และแก้ไขได้ยาก

“สัดส่วนของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 70% เป็นโรงพยาบาลในภาคเอกชน ส่วนอีก 30% เป็นของหน่วยงานรัฐและแบ่งแยกย่อยกันไปตามสังกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข” นพ.รุ่งเรือง กล่าว