ผนึกกำลัง!! แก้รธน. “ปชป.-ภท.-ชทพ.” ชง8ร่าง สส.เขต400 ปาร์ตี้ลิตส์100

61

3 พรรคการเมือง “ปชป.-ชทพ.-ภท.” ผนึกกำลัง แก้ รธน. ยื่น 8 ร่าง ต่อ ประธานรัฐสภา ขอ 2 ระบบเลือกตั้ง สส.เขต 400 คน และ ปาร์ตี้ลิตส์ 100 คน ขณะ “นิกร” เผย ชทพ. ไม่ร่วมลงชื่อ ตัดอำนาจ ส.ว.

วันที่ 16 มิ.ย. 2564 เวลา 16.15 น. ที่ รัฐสภา 3 พรรคการเมือง นำโดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ภท.) ได้ยื่น 8 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยนายชินวรณ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรคเห็นพ้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 8 ร่าง ประกอบด้วยร่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 6 ร่างได้แก่ 1.ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา 2.ระบบเลือกตั้ง ให้มีส.ส.เขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 3.เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี 4. ประเด็นแก้ไข มาตรา 256 5.ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ 6.การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

นายศุภชัย กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เสนอ 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องปากท้องของประชาชนโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนควรจะต้องมีหลักประกันรายได้ที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซึ่งจากการคำนวณพบว่าอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี จะต้องบรรจุคำนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ที่กำหนดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและโลก ส่วนเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี นั้นพรรคภูมิใจไทยมีหลักการเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์เลยตัดสินใจนำไปร่วมเป็นร่างเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

ขณะที่นายนิกร กล่าวว่า เราเป็นพรรคขนาดเล็กมีส.ส.เพียง 12 คน ในส่วนของพรรคเราได้ร่วมลงชื่อกับทุกร่าง ยกเว้นการแก้ไขมาตรา 272 เพราะมองว่าถ้า ส.ว.ไม่ลงชื่อสนับสนุนด้วยก็ไม่ผ่าน อีกทั้งประเด็นการตัดอำนาจส.ว.อาจจะต้องไปทำประชามติก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับการไปเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่