กทม.ปริมณฑล ยังอ่วม!! วันเดียวติดเชื้อ 2,642 พบคลัสเตอร์เพิ่มอีกใหม่ 8 จังหวัด

42

กทม.ยังพบติดเชื้ออันดับ 1 วันเดียวเจอ 1,154 ราย ตายถึง 15 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่8 จังหวัด มีทั้ง กทม.พบที่สถานดูแลผู้สูงอายุ เขตบางเขน ร้านขายขนมกุยช่าย เขตธนบุรี และแคมป์คนงาน เขตบางกอกใหญ่ , สมุทรปราการ โรงงานรองเท้า และโรงงานแปรรูปอาหาร , สงขลา โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง , สมุทรสาคร โรงงานเสื้อผ้า , นครปฐม โรงงานหมู , ระยอง แคมป์ก่อสร้าง , พระนครศรีอยุธยา ศูนย์วิทยุกู้ภัย , ปราจีนบุรี โรงงานหินเทียม ขณะที่การติดเชื้อในปท.วันนี้ 4,038 ราย มาจากต่างประเทศ 21 ราย

วันที่ 22 มิ.ย.2564 ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 4,059 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,038 ราย (แยกเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 2,257 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,706 ราย
จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 75 ราย) และเดินทางมาจากต่างประเทศอีก 21 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 225,365 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 35 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตขยับไปที่ 1,693 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 2,047 ราย รวมยอดรักษาหาย 187,836 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 35,836 ราย เป็นการรักษาอยู่ในรพ.10,167 ราย รพ.สนาม 25,669 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,479 ในจำนวนผู้ป่วยหนักนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 410 ราย

ทั้งนี้ในรอบ 24 ชม.มีการตรวจพบการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวม 339 ราย โดยพบมากสุดบริเวณแนวชายแดน 321 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 7 รายติดเชื้อ

เฉพาะการระบาดในระลอกเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 22 มิ.ย.64 พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 4,059 ราย โดยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 196,502 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,047 ราย รวมรักษาหายแล้ว 160,410 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 35,836 ราย เสียชีวิต 35 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,599 ราย

รายละเอียดผู้เสียชีวิต 35 ราย เป็นเพศชาย 25 ราย เพศหญิง 10 ราย อายุ 28-94 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม.มากที่สุด 15 ราย สมุทรสาคร 6 ราย สมุทรปราการ 5 ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต สุพรรณบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ โรคไต หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มะเร็ง โรคตับ ติดเตียง โรคปอด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้ เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว และคนอื่นๆ มากเช่นเดิม อาศัยและเดินทางเข้าไปในสถานที่ระบาด ไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน

สำหรับ 10 อันดับที่พบผู้ป่วยภายในประเทศสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร 1,154 ราย
อันดับ 2 สมุทรปราการ 696 ราย
อันดับ 3 ชลบุรี 335 ราย
อันดับ 4 สงขลา 293 ราย
อันดับ 5 สมุทรสาคร 250 ราย
อันดับ 6 ปทุมธานี 211 ราย
อันดับ 7 นนทบุรี 169 ราย
อันดับ 8 นครปฐม 162 ราย
อันดับ 9 ปัตตานี 81 ราย
อันดับ 10 ระยอง 63 ราย