วิกฤติ ที่น่ากลัว!! เมื่อ “เดลตา” เข้ายึดพื้นที่ กทม. แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

75

สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 นับวันๆ มีแต่จะน่ากังวล หลังยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยรอบ 7 วันสูงถึง 7,097 ราย และล่าสุด ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30 น. พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 9,539 ราย!!

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระลอกที่ 3 เมื่อเทียบกับระลอกที่ 1 ระหว่าง 1 ม.ค. – 14 ธ.ค. 63 และระลอกที่ 2 ระหว่าง 15 ธ.ค. 63 – 31 มี.ค. 64 ผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จาก 6.5% และ 2.6% เป็น 7.32%

โดยภาพการติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ทั่วประเทศไทยที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ 1 เม.ย. – 2 ก.ค. 64 จากการสุ่มตรวจ 2,238 ตัวอย่าง หลักๆ เป็นการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา อังกฤษ มีสัดส่วนมากถึง 65% รองลงมา คือ สายพันธุ์เดลตา อินเดีย 32% และสายพันธุ์เบตา แอฟริกา 3%

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดาพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดนั้น กรุงเทพฯ นับเป็นพื้นที่ที่หลายฝ่าย กังวลมากที่สุด เพราะมียอดผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันสูงเป็นพันๆ ราย ล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.ค. 64 มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 2,741 ราย! รวมสะสมระลอก 3 สูงถึง 96,545 ราย และมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังกว่า 127 แห่ง

ในส่วนกรุงเทพฯ นั้น ไม่ได้แต่สร้างความกังวลแค่เพียงยอดผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ กลับพบว่า จากการสุ่มตรวจ 936 ตัวอย่าง มากกว่าครึ่ง หรือ 52% เป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ทุกคนต่างหวาดผวา โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คาดการณ์ว่า สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ สวนทางกับสายพันธุ์อัลฟาที่มีแนวโน้มลดลง

ความน่ากลัวของ “เดลตา” จากการเปิดเผยของ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 คือ สายพันธุ์อัลฟาที่เราหวาดระแวงกันในตอนแรกนั้น เพราะมีการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 60-70% แต่สำหรับสายพันธุ์เดลตากลับรวดเร็วยิ่งกว่านั้น และทำความเร็วยิ่งกว่าอัลฟาถึง 40% อีกทั้งความรุนแรงยังมากกว่าอัลฟาอย่างน่าหวาดหวั่น กล่าวคือ อัลฟาใช้เวลา 7-10 กว่าจะเข้าสู่ภาวะปอดอักเสบ แต่เดลตานั้นใช้เวลาเพียง 3-5 วัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ นพ.อุดม ประเมินว่า ใน 1-2 เดือนนี้ สายพันธุ์โควิด-19 ที่มีคนติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” นี้ ที่น่าเป็นห่วงต่อไป คือ หากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนเตียง โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาอยู่รวม 85,689 ราย เป็นอาการหนัก 2,783 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 728 ราย!!

ฉะนั้น เมื่อวิกฤติ “เดลตา” กำลังบีบคั้นทุกช่วงขณะ หนทางที่เราพอจะบรรเทาได้…คงหนีไม่พ้นเร่ง “ฉีดวัคซีนโควิด-19!!”

“สายพันธุ์เดลตา เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่ 4 ที่ WHO มีความกังวลอย่างมาก ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายเชื้อที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และความสามารถในการต้านแอนติบอดีในเลือด ดังนั้น ความจำเป็น ณ ห้วงเวลานี้ คือ คุณต้องมีแอนติบอดีที่สูงมากพอในการเอาชนะสายพันธุ์นี้ได้” นพ.อุดม คชินทร กล่าว