ศปก.ศบค.เตรียม ชงยาแรง ปิดทุกกิจการ กทม.-ปริมณฑล ยกเว้นขนส่งของจำเป็น

74

ศปก.ศบค.เตรียมงัดมาตรการ ชงยาแรง ควบคุมโควิด-19 แพร่ระบาด เสนอปิดทุกกิจการ/กิจกรรม ในกทม. ปริมณฑล 100% ยกเว้นเฉพาะ ด้าน ขนส่งสินค้า อาหาร ยา และ วัคซีน

วันที่ 17 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ มีการประชุมด่วน ศปก.ศบค. พิจารณาการเพิ่มมาตรการควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มระบาดรุนแรง โดยในที่ประชุม ซึ่งมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นมีฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุขร่วมด้วย ได้เสนอแนะ ถึงมาตรการ ลดการเคลื่อนที่ให้มากขึ้น และเสนอให้ปิดกิจกรรม กิจการทุกอย่างในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยกเว้น การขนส่งสินค้า อาหาร ยา วัคซีน สื่อสาร และ สาธารณูปโภค กรณีสถานประกอบการให้ทำระบบ Seal Route ในการทำงานหรือให้พักในสถานประกอบการ โดยจะต้องมีการขออนุญาตและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยข้อเสนอดังกล่าว แนะนำว่า รัฐควรมีการจัดการที่ชัดเจนทั้งมาตรการตรวจหาเชื้อ รักษา และระบบสนับสนุนให้ดำรงชีพได้ นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการควบคุมงดการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเคร่งครัด เฝ้าระวังการเดินทางข้ามประเทศทางชายแดนและผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด

การบริหารจัดการระบบทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ (Covid-19 Comprehensive Response Team: CCRT) มาตรการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) มาตรการแยกกักในชุมชน(Community Isolation) และบริหารจัดการโรงพยาบาล ลดความซ้ำซ้อนและสามารถทำการดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุมจํานวนผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด

ส่วนมาตรการด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 เร่งรัดให้มีการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเน้นย้ำว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทางด้านสถานประกอบการ โรงงาน จะให้ใช้วิธีการตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท(Antigen test kit: ATK) และใช้มาตรการบับเบิ้ล แอนด์ ซีล(Bubble and seal) เพื่อควบคุมโรค ส่วนกรณีสถานประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการได้ ให้เน้นการทำงานจากที่บ้าน(Work from home) ให้มากขึ้นเป็น 100%

ทั้งนี้ ในข้อเสนอแนะนำเรื่องการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ทราบสถานการณ์และมาตรการที่จะดำเนินการ รวมทั้งลดความตระหนก เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. พิจารณาอีกครั้ง