ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนประหารชีวิต “ผอ.กอล์ฟ” ฆ่าชิงทอง 3 ศพที่ลพบุรี เเต่เเก้ดอกเบี้ยค่าเสียหายให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ นับจากวันเริ่มใช้ ชี้ พฤติการณ์โหดเหี้ยมไร้มนุษย์ธรรม
วันที่ 20 ก.ค.2564 ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.300/2564 ในส่วนคดีอาญาเเละคดีเเพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ที่พนักงานอัยการคดีอาญา เเละ บริษัทออโรร่า ดีไซน์ พร้อมด้วยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายอีก 10 ราย เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือ ผอ.กอล์ฟ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ, พยายามฆ่าผู้อื่นฯ, ชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนฯ และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน กรณีก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ร้านทองออโรร่า ในห้างสรรพสินค้าที่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 ว่าจำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ประกอบมาตรา 60, 289 (6) ประกอบมาตรา 80, 289 (7),339 วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้ายประกอบ มาตรา 340 ตรี,371,376 ,พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน , ฐานมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน
ฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 3 ปี ,ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพิ่มความสะดวกในการจะกระทำผิด ให้ประหารชีวิต,ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต,ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยมีและใช้อาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะ ให้ประหารชีวิต และ ปรับ 1,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง อาวุธปืนและเครื่องกระสุน หมวกโม่งคลุมศีรษะสีดำ รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า เสื้อยืด โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ใช้กระทำผิด
อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ร้องที่1 จำนวน 1.8 แสนบาท ,ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 9.9 หมื่นบาท , ผู้ร้องที่ 3 จำนวน 1.3 แสนบาท, ผู้ร้องที่ 4 จำนวน 2.2 ล้านบาท, ผู้ร้องที่ 5 จำนวน 7.5 แสนบาท ผู้ร้องที่ 6,7 และ8 จำนวน 2.25 ล้านบาท,ผู้ร้องที่ 9 และ 10 จำนวน 7.5 แสนบาท
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษ โดยศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมา ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่ามีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หรือไม่
เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานแวดล้อม กรณีมาสืบให้รับฟังได้อย่างมั่นคงว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายที่ 1-3และที่ 5 และชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมแล้วหลบหนีไป ดังที่วินิจฉัยมาแล้วทั้งจำเลยมิได้ลุแก่โทษเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานเเละสารภาพความผิด แต่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจ ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง เพื่อขอออกหมายจับจำเลย จนกระทั่งจับจำเลยได้ซึ่งลำพัง
แต่พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยรับสารภาพ เป็นเพราะเกิดจากจำนนต่อหลักฐานและตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ที่บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่การที่จำเลยชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัสฆ่าผู้อื่น เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นฆ่าผู้อื่น เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิด
แต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่นและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ลักษณะของการกระทำความผิด จึงเป็นไปโดยอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยชดใช้ความเสียหาย เพื่อบรรเทาผลร้ายสำนึกผิดหรือมีคุณความดีดังที่อุทธรณ์ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะสมควรใช้ดุลพินิจลดโทษให้แก่จำเลยได้
ที่ศาลชั้นต้นให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย โดยไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่งระหว่าง การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.แพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งป.แพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน ดังนั้นในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับคือวันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปนั้น จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดแก่ (ผู้ร้องทั้งสิบ ในอัตราตามป.แพ่งและพาณิชย์ม. 224 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ตามพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.แพ่งและพาณิชย์ 2564 มาตรา 7 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับ แต่วันที่11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระค่าสินไหมทดแทนเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสิบ นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น