สื่อนอก ตีข่าว!! “แท็กซี่-ตุ๊กตุ๊ก”ไทยกระอัก โดนพิษโควิดทุบ รายได้หาย ต้องทิ้งอาชีพ

122

นสพ.Borneo Bulletin เสนอข่าว โควิด-19 แพร่ระบาดใน เมืองไทย ทำผู้มีอาชีพ ขับรถ แท็กซี่-ตุ๊กตุ๊ก กว่าครึ่งหนึ่งหายไปจากท้องถนน และ เปลี่ยนอาชีพ หลัง นักท่องเที่ยว และ ปชช.ไม่กล้าออกนอกบ้าน

24 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ นสพ.Borneo Bulletin ของบรูไน เสนอข่าว Taxis, tuk-tuks come to a standstill after Thai virus surge ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาคือส่วนหนึ่งของการจราจรที่คับคั่งในเมือง แต่วันนี้ต้องจอดนิ่งสนิทย้อนไปในปี 2563 ไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีมาก แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด มีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว และห้ามการชุมนุมรวมกลุ่มต่างๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่แต่ในบ้าน Anuchit Surasit ชายวัย 47 ปี นำรถแท็กซี่ไปจอดไว้ที่อู่แห่งหนึ่งทางตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยมีรถอีกนับร้อยคันถูกจอดทิ้งไว้ที่นั่นเช่นกัน

Anuchit กล่าวว่า ทั้งนักท่องเที่ยง คนไปทำงานและอื่นๆ เป็นลูกค้าของพวกตน แต่วันนี้คนเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว ตนนั้นมีความสุขดีกับอาชีพขับรถแท็กซี่ แต่ระยะหลังๆ มีรายได้เหลือเพียง 9 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 บาทต่อวัน อีกทั้งยังกังวลความเสี่ยงกับไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายอินเดีย หรือเดลตา ที่กำลังระบาดไปทั่วในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทำให้ต้องตัดสินใจหยุดอาชีพนี้ไว้ก่อนแล้วไปหางานอื่นทำ

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่ครองสัดส่วน 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทยทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยนั้นเผชิญวิกฤติที่รุนแรงยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยในปีสุดท้ายของโลกก่อนถึงยุคไวรัสโควิด-19 ระบาด ไทยเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน ด้าน วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร (Wasuchet Sophonsathien) นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบอาชีพด้านการขนส่งราว 1 แสนคนตกงาน และกว่าครึ่งหนึ่งของรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หายไปจากท้องถนน