สถานการณ์โควิด-19 ในเมืองไทย เหมือนลอยคอ กลางทะเล วังเวง ไม่เห็นฝั่ง

70

สถานการณ์ การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 กลายเป็น ทอล์คออฟ เดอะทาวน์ ที่ผู้คนพากันพูดถึงเป็น เสียงเดียว แต่ไม่ใช่เสียงด้วยชื่นชม หากเป็นเสียงอุทานด้วยความ ตื่นตระหนก

ประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ทั่วทุกสารทิศ ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้น โดยเฉพาะคนจน ชนชั้นรากหญ้า ร้อนาคต และ วังเวง ไม่ต่างจากการตกอยู่ในภาวะ สงครามกลียุค

ตัวเลขจากการแพร่ระบาดล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 31 ก.ค.2564 จาก ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตัวเลขอยู่ที่ 18,912 ราย และ ยอดผู้เสียชีวิต 178 ราย ซึ่งเมื่อเทียบ กับข้อมูลวันที่ 30 ก.ค.2564 ที่ผ่านมาวันเดียว คือ ยอดผู้ป่วยรายใหม่ 17,345 ราย และ ผู้เสียชีวิต 117 ราย จะเห็นได้ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ทุกรายการ !!!

แน่นอนที่สุด ทุกๆฝ่ายเรียกหาวัคซีนคุณภาพ มาเร่งฉีดโดยเร็ว แต่ก็ดูเหมือนว่าโอกาสจะริบหรี่เหลือเกิน เพราะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้เป็นวัคซีนตัวหลักในการสู้กับโควิด-19 และสั่งซื้อไว้ถึง 61 ล้านโดส ไม่สามารถผลิตและส่งมอบให้ได้ตามสัญญาผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้าออกมายอมรับว่า จะส่งมอบวัคซีนได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดส จากเป้าที่ สธ.ต้องการคือ 10 ล้านโดส ได้แต่รู้สึกหดหู่ กับการทำสัญญาที่หละหลวม ของภาครัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อการหาวัคซีนกำลังเดินมาถึงทางตัน ทั้งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ดิ้นและไปลงเอยที่ทุ่มงบฯซื้อซิโนแวคเข้ามาเพิ่ม

ท่ามกลางเสียงท้วงติงเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุที่ไวรัสเริ่มกลายพันธุ์ อีกด้านหนึ่ง ตอนนี้สถาบันวัคซีนก็กำลังง่วนอยู่กับการเตรียมเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ หลังจากเมื่อต้นปี 2563 ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ ด้วยเหตุผลว่าเพราะ

1.โคแวกซ์เป็นโครงการตั้งขึ้นเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน 2.ไทยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี 3.หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขัน 4.การจองวัคซีนผ่านโคแวกซ์ต้องเสียธรรมเนียม และ 5.การซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตโดยตรง สามารถกำหนดจำนวนและต่อรองราคาได้ ฯลฯ

ถัดมาไม่นาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ออกมาบอกว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 ไทยมีวัคซีนรวมสะสมทั้งสิ้นประมาณ 27 ล้านโดส เป็นแอสตร้าฯราว 12 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 15 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนบริจาคอีกราว ๆ 3.5 ล้านโดส

ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนจากวันแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงถึงวันที่ 24 ก.ค.2564 ฉีดไปได้เพียง 15.86 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค 8.10 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.08 ล้านโดส และเอายอดซิโนฟาร์มที่ดำเนินการโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เข้ามาบวกเพิ่ม 6.79 แสนโดส ทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5-6% ของจำนวนประชากรเท่านั้น

แม้ว่าข้อมูลตัวเลข การฉีดวัคซีน ณ วันนี้ (1 ส.ค.2564) ยังไม่มาให้เห็นชัดเจน แต่เชื่อเหลือเกิน ยังห่างเป้ากับการที่จะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศปค. ประกาศไว้ จะทำให้สำเร็จภายใน 120 วัน ซึ่งมองอย่างไรก็เป็นไปได้ยากเต็มที

นี่คือความผิดพลาดในการบริหารจัดการวัคซีนตั้งแต่เริ่มต้น และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ลุกลามเป็นวงกว้าง จำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นหลักหมื่นในแต่ละวัน ทำให้เตียงผู้ป่วยไม่สามารถรองรับได้ ตอนนี้แพทย์-พยาบาล-เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลทุกแห่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ นี่ก็จะ 4 เดือน ย่างเข้าเดือนที่ 5 แล้ว เขาเหล่านี้จะทนทานและสามารถยืนระยะยาวได้นานอีกกี่วัน เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มขาดแคลน รอผู้ใจบุญบริจาค

ตอนนี้ระบบสาธารณสุขไทยเข้าขั้นโคม่า ใกล้จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเข้าไปทุกที ส่วนเศรษฐกิจปากท้องก็ไม่ต่างกัน การทำมาค้าขาย ธุรกิจเล็ก-ใหญ่ ล้วนฝืดเคืองลำเค็ญ เศรษฐกิจประเทศกำลังจมดิ่ง

เหมือนกำลังลอยคออยู่กลางทะเลมานานนับเดือน และ ยังมองไม่เห็นฝั่ง