“นิพนธ์” ร่วมประชุม มท. กำชับเร่งฉีดวัคซีนรับเมืองท่องเที่ยว บริหารจัดการแก้อุทกภัย

34

รมช.มหาดไทย ย้ำ 3 เรื่องหลัก เร่งฉีดวัคซีนเมืองท่องเที่ยว บริหารจัดการน้ำแก้อุทกภัย และ ภัยแล้งพร้อมเร่งรัดฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ได้รับผลกระทบ – ลดสถิติการสูญเสียบนท้องถนน แก่ผู้บริหาร กระทรวงมหาดไทย

วันที่ 28 ก.ย. 2564 ที่ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เข้าร่วมประชุมประชุม ชี้แจงข้อราชการสำคัญผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (vcs) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่นำร่อง และ ผ่อนปรนมาตรการการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นขอให้การบริหารจัดการวัคซีนเน้นการฉีดในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ผู้ให้บริการโรงแรม ขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร ฯลฯ ให้สำรวจกลุ่มคนกลุ่มนี้ ถ้าสามารถดูแลป้องกันก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรค โดยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 จากนักท่องเที่ยวมาสู่ประชาชน ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องไม่ได้รับเชื้อจากประชาชนด้วยสำหรับในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงนี้ ประเทศไทย เราได้มีบทเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะอุทกภัยปีที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” อยากให้ทำความเข้าใจและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะรักษาชีวิตประชาชน ขอให้ถอดบทเรียนจาก “พายุโพดุล” ต้องมีการเตรียมแผนที่จะเผชิญเหตุไว้ การเตรียมการที่ดีตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุ การแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามเหตุข่าวสารข้อมูลให้ความร่วมมือกับทางราชการ  การถอดบทเรียนจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ทำให้รู้ว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถรับมือสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสามารถทำได้ทันท่วงที ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตน้อยลง

รมช.มหาดไทย ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พายุอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ภาคใต้จะเริ่มเข้าสู่มรสุมในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งขุดลอกคูคลอง รวมทั้งการพร่องน้ำในคูคลองและอ่างเก็บน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ มาตรการต่างๆไว้คอยเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ขณะเดียวกันก็ให้มีการเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนเข้าสู่ปกติโดยเร็ว รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยนอกจากนี้ ยังฝากถึงความปลอดภัยทางถนน ที่ยังเป็นภัยคุกคามพี่น้องประชาชน เพราะเส้นทางถนน 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในการดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ล้วนอยู่ในการดูแลของท้องถิ่น โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนหลัง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 หลัง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางช่วงโควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุให้ได้ ตามแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน