“น้ำมันรั่ว” บทเรียนซ้ำซาก กับ เครื่องหมายคำถามตัวโต จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ???

119

เหตุการณ์ “น้ำมันรั่ว” ไหลกลางทะเล มาบตาพุด ของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC โดยเกิดขึ้น กลางดึกคืนวันที่ 25 ม.ค.2565 สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อ สภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ชายฝั่งทะเลเมืองระยอง กระทบต่อเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางทะเลตะวันออกของไทย

ที่สำคัญ เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ “สตาร์ปิโตเลียม” ซึ่ง ผลกระทบที่ตามมา รุนแรงมหาศาล

กลายเป็น เครื่องหมายคำถามตัวโต ว่า …แล้ว เราจะแก้ปัญหา สกัดต้นตอ อันเกิดจากความบกพร่องเหล่านี้อย่างไร ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่แค่ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นครั้งคราว แล้วก็ปล่อยให้เกิดขึ้นตามมาอีกอย่าง ซ้ำซาก

ย้อนหลังไปเมื่อปี เดือน ก.ค. 2556 เกิดเหตุการณ์ ท่อส่งน้ำมันของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่ว บริเวณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด 50,000 ลิตร ปริมาณสารไฮโดรคาร์บอน ในน้ำทะเลทั้ง 3 ระดับ คือ ผิวน้ำ กลางน้ำ และใต้ท้องน้ำ ส่งผลให้ปะการัง เกิดภาวะฟอกขาวเฉียบพลัน แม้บางส่วนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จากการฟื้นฟูแก้ไข สัตว์น้ำเริ่มกลับเข้าสู่พื้นที่ แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

“ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ที่สะสมอยู่ในตะกอนทรายอ่าวพร้าวมีปริมาณลดลงตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยการฟอกขาวของปะการังจากน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชานักวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรฯ ให้ความเห็นจากเหตุการณ์ครั้งนั้นสำหรับ “เหตุน้ำมันรั่ว” ครั้งนี้ ที่ มาบตาพุด มีที่มา ที่ไปอย่างไร กลางดึกวันที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 22:10 น.สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่น SPM ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 10.5 ไมล์ทะเล หรือ 16.898 กม. บริษัทแจ้งว่า น้ำมันดิบรั่วจากท่อที่ใช้ในการโหลดจากเรือ ขออนุมัติฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน Dispersant 4 หมื่นลิตร เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัว

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเลนั้น มีการตั้งข้อสังเกตุ จากบางฝ่ายว่า มีการร่วมกัน ปกปิดข้อเท็จจริง โดย “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์ และ ส่งทีมงานเก็บข้อมูล ถ้าเทียบกับปี 2556 รู้สึกว่าเหตุการณ์ ครั้งนี้น่าจะเป็นหายนะ จากภัยของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมครั้งที่รุนแรงที่สุด เชื่อว่ามีการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันสูงมาก เพราะปริมาณน้ำมันที่รั่วครั้งนี้

บริษัทต้นเหตุ ได้เปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปกปิดข้อมูล จากน้ำมันรั่ว 4 แสนลิตร แต่ภายหลังระบุน้อยกว่านี้ โดยใช้เวลานานในการกำจัดคราบน้ำมันอย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล ของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ไม่ใช่ครั้งแรก โดย ในปี 2540 เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเลระหว่างขนถ่ายน้ำมัน จากเรือสู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัทมาแล้วกว่า 160,000 ลิตร เมื่อเทียบกับ น้ำมันรั่วของ ปตท.จาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เมื่อปี 2556 กับ ครั้งนี้ หนักกว่าถึง 3เท่าตัว

การบริหารจัดการแก้ปัญหา เริ่มขึ้นทันที เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 ม.ค. 2565 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, กองทัพเรือภาคที่ 1 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล จ.ระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูสถานการณ์ ที่คำนวณว่าจะมีปริมาณ รั่วไหล 1.6 แสนลิตร หรือ 128 ตันถัดมาอีก1วัน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข, นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง, วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.ได้ประชุมหาแนวทางแก้ไข และ มาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ จากนั้น บริษัท SPRC ส่งนักประดาน้ำสำรวจจุดเกิดเหตุ พบว่า เกิดการรั่วไหลบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านล่าง (Submarine Hose) ที่ไม่สามารถหาจุดเกิดเหตุได้ เพราะท่อดังกล่าวมีอายุใช้งาน 26 ปีไม่มีเซ็นเซอร์บอกจุดที่รั่วไหลเหมือนท่อรุ่นใหม่

กระนั้นก็ตามที ต้องถือว่าเป็นจุดบกพร่อง ของ บริษัท สตาร์ ปิโตเลียม รีไฟน์นิ่ง โดยตรง เพราะอย่าลืมว่า มันไม่ใช่ครั้งแรก ที่ บริษัทนี้ เกิดปัญหารั่วไหล น่าจะเป็นบทเรียน ให้ทบทวน หาทางป้องกัน ไม่ใหช่ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซาก

ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และ สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงวิถีชุมชน ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว คือตการทำมาหากินของชาวบ้าน ทำให้ร้านค้า ขายอาหารทะเลแทบไม่ได้ และบรรดารีสอร์ต ที่พักถูกยกเลิกเป็นส่วนใหญ่

พร้อมคำถามเกี่ยวกับปริมาณการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันให้จมสู่ใต้ทะเล เพื่อการประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนของสารพิษตามแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และ แนวปะการัง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการทำประมงพื้นบ้าน อาจมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง กลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) หากผู้บริโภครับสารอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นพิษต่อระบบร่างกายได้

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ คงไม่ต่างจากปี 2556 และอาจรุนแรงกว่า ในการสร้างหายนะต่อระบบนิเวศ วิถีชุมชนเศรษฐกิจ การประมง และสุขภาพ จากความกังวลของหลายฝ่าย นำไปสู่การร่วมหาทางออกของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้าน กรมควบคุมมลพิษ ใช้แบบจำลอง OilMap ทำนายการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล หากไม่มีการควบคุมป้องกัน จะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเล บริเวณหาดแม่รำพึง เขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด โดยวันที่ 28 ม.ค. 2565 ปริมาณน้ำมัน 100,000 ลิตร จากภาพถ่ายดาวเทียมของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เวลา 10:40 น. พบกลุ่มก้อนน้ำมันกระจายเป็นวงกว้างบริเวณอ่าวมาบตาพุด มีพื้นที่ 11.65 ตร.กม.หรือ 2 เท่าของเกาะเสม็ด อยู่ห่างชายฝั่งเมืองระยอง 16.5 กม.

โดยล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ สามารถเก็บกู้คราบน้ำมันตามแนวชายหาดด้วยเครื่องดูดคราบน้ำมันได้แล้วกว่า 13 คิว ที่เหลือใช้วิธีซับคราบน้ำมัน และใช้สารขจัดคราบน้ำมัน รวมถึงขุดร่องน้ำชายหาดให้น้ำมันไหลมารวมกัน และเฝ้าระวังคราบน้ำมันในทะเลนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ทุกหน่วยงานจะร่วมกันประเมินสรุปความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว การประมง การประกอบอาชีพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมย้ำ หนักแน่น ว่า “ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกบาททุกสตางค์จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อทวงคืนจากบริษัทต้นเหตุอย่างถึงที่สุด”

วันที่ 1 ก.พ. 2565 ศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเมืองระยอง ได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลระยอง ที่ สบายสบาย รีสอร์ต ชายหาดแม่รำพึง ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง มีผู้มายื่นเรื่องลงทะเบียนเยียวยา ประมาณ 200 ราย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลครั้งนี้ มีมวลน้ำมันในทะเล 1,713,388 ตรม. ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง และปะการัง 1,708.77 ไร่ หญ้าทะเลรวม 1,885.38 ไร่ คราบน้ำมันลอยเป็นบริเวณกว้างมีพื้นที่ 47 ตร.กม. หรือ 29,506 ไร่ ประมาณ 9 เท่าของเกาะเสม็ด และในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลมากกว่า 235 ครั้ง

แทบไม่น่าเชื่อว่า สถานการณ์ “อุบัติภัยน้ำมันรั่ว” ที่ผ่านมา ในช่วง 45ปี เกิดมาแล้วกว่า 235 ครั้ง ! ดังนั้น จึงจำเป็น อย่างยิ่งที่ ต้องมีการ ดำเนินคดีอย่างจริงจัง เพื่อเป็น บทเรียนให้ ผู้ประกอบการต่างๆ พึงตระหนัก และ มีความรับผิดมากกว่าที่ผ่านมา