“กัญชาเสรี” นโยบายดาบสองคม “สายเขียว” พึงระวัง ต้องพิจารณารอบคอบ !!

312

หลังจากนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่ จุดพลุโดย พรรคภูมิใจไทย พุ่งทะยานขึ้นท้องฟ้า ปรากฏว่า ได้รับเสียงสะท้อนตอบรับเป็นอย่างดี ตามด้วย การ “ปลดล็อค” กัญชา กัญชง ออกจากกฎหมายยาเสพติด ประเภทที่ 5 ยิ่งทำให้แรงหนุน กัญชา เพิ่มเท่าทวีคูณ

เห็นได้จาก แอป “ปลูกกัญ” ของกรมวิชาการเกษตร ปรากฏว่า มีคนเข้าไปลงทะเบียนขอปลูกกัญชา เป็นจำนวนนับแสนราย ขานรับนโยบายของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ที่จะแจกฟรี ต้นกล้ากัญชา ให้ประชาชนครบ 1 ล้านต้น

นับว่า นโยบาย “กัญชาเสรี” ของพรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ประสบความสำเร็จทะลุเป้า เข้ากับสโลแกนที่ใช้หาเสียง “พูดแล้วทำ” โดยเฉพาะประเด็นที่ผลักดันให้ “กัญชา” เป็นพืชเศรษฐกิจ หวังสร้างรายได้นับหมื่นๆ ล้านในอนาคตอย่างไรก็ตาม “เหรียญย่อมมีสองด้าน..ดาบต้องมีสองคม” ยังเป็นสัจธรรม และสามารถนำมาเปรียบเทียบ กับกรณีนี้ได้เช่นกัน นโยบาย “กัญชาเสรี” ที่พรรคภูมิใจไทยชูธง มีเป้าประสงค์เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ หาได้ให้นำมาใช้เพื่อการบันเทิง แต่อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาในอดีต มีการนำช่อดอกของกัญชา มาสูบ และเสพ จนติดกันงอมแงม

และถึงแม้ว่าจะมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดห้ามนำผลผลิต ใบ ช่อ ดอก ที่มีค่า ทีเอชซี เดิน 0.2 มาใช้ ใครฝ่าฝืนถือว่า ทำผิดกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นก็ตามที มองภาพรวมโดยทั่วไป มันก็ดูย้อนแย้งอย่างไรพิกลกับ นโยบาย “กัญชาเสรี”

เอาเป็นว่า พักเรื่องนี้ไว้ก่อน มาดูอีกฟาก ซึ่ง ส่วนใหญ่ เป็น บุคคลากรทางการแพทย์ เริ่มมี ปฏิกริยาต่อต้าน คัดค้าน นโยบาย “กัญชาเสรี” กันบ้างแล้ว เริ่มจาก ศาตราจารย์(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่อนแถลงการณ์ จำนวน 8 ข้อ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา หมาดๆ ดังนี้

ตามด้วย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในาม “หมอสันต์” ศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาผ่าตัดหัวใจ “หมอสันต์” ออกความเห็นตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ในหัวข้อ “ทำไมหมอสันต์ต้านกฎหมายกัญชา” สรุปสั้นๆ …. ว่ากันตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ นอกจากจะใช้รักษาลมชักแบบดื้อด้านในเด็ก ใช้แก้ปวด และอาจใช้ช่วยลดความกังวล และช่วยการนอนหลับได้ในผู้ป่วยบางกลุ่มแล้ว ไม่มีหลักฐานวิจัยว่า กัญชามีดีอย่างอื่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า กัญชารักษามะเร็งให้หายได้นั้นไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ใดๆ สนับสนุนเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ส่วนการวิจัยใช้กัญชารักษาโรคนั้นทุกวันนี้ก็ทำกันอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ได้มีใครห้ามทำวิจัยแต่อย่างใด

ถามว่า กัญชามีข้อเสียอะไรบ้าง ตอบว่า งานวิจัยของสถาบันวิชาการแห่งชาติสหรัฐ (NAS) ระบุว่า การใช้กัญชาในคนที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตประสาทมาก่อน จะทำให้เป็นโรคกลัวสังคมมากขึ้น อนึ่ง กัญชานี้แสลงกับโรคจิตประสาทในกลุ่มโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder) และโรคจิตแบบบ้า (psychosis) เพราะจะยิ่งทำให้บ้าหนักขึ้นไปอีก ในแง่ของหมอหัวใจ กัญชาทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้หลายแบบรวมทั้งแบบอันตรายเช่น AF, VT, VF ด้วย
…ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของกัญชาก็คือ มันเป็นยาเสพย์ติดให้โทษ แทบทุกประเทศจัดกัญชาเป็นสารเสพย์ติดกลุ่ม 1 คือ มีโทษสูงสุดถ้าเสพย์ ข้อมูลของ NAS บ่งชี้ว่า กัญชาเป็นปากทางนำไปสู่การใช้ยาเสพย์ติดที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าทุกชนิด รวมทั้งโคเคน ฝิ่น และเฮโรอีน…ผลเสียของการแก้กฎหมาย “ปล่อยผี” กัญชา การที่คนเราอยากจะหนีความคิดของตัวเองไปสู่ความสงบเย็นที่ปลอดอิทธิพลความคิดนั้น มันเป็นธรรมชาติที่ฝังลึกอยู่ในใจของคนทุกคน สุดแล้วแต่ว่ามันจะโผล่ขึ้นมาช้าหรือเร็ว ทุกคนก็ล้วนอยากไปตรงนั้น

ฟังแล้วก็สะอึกไปตามๆ กัน !!

จากความเห็นของบุคคลากรทางการแพทย์มาแล้ว คราวนี้มาลองฟังเสียงจากประชาชนดูบ้าง ว่า คิดเห็นอย่างไร สนับสนุน หรือคัดค้าน เริ่มจาก “นิด้าโพล” โดย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ศูนย์สำรวจความเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ

ถามว่า ความคิดเห็นต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 เห็นด้วยมาก เพราะกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้เรื่องกัญชามากพอ และภาครัฐไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้อย่างทั่วถึง ร้อยละ 23.74 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าให้โทษ สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ และร้อยละ 16.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจเกิดการเสพติดกัญชา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด

ด้านความกังวลของประชาชนต่อปัญหาการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมในหมู่เด็กและเยาวชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.44 ระบุว่า กังวลมาก รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 16.95 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 10.99 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรูปแบบการใช้กัญชาของคนไทยในอนาคต พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.05 ระบุว่า ใช้ทางการแพทย์ รองลงมา ร้อยละ 31.15 ระบุว่า ใช้เพื่อการสันทนาการ เช่น การสูบ หรือเสพ ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้อยละ 12.59 ระบุว่า ใช้เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์“นิด้าโพล” สรุปภาพรวม เป็นในเชิงบวกต่อนโยบาย “กัญชาเสรี” ประเด็นชัดจน การผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และ มีส่วนน้อยยังกังวล ต่อการนำไปใช้เสพแล้วทำให้เสียสุขภาพ

ขณะที่ สำนักวิจัย “ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจเปิดใจคนวัยทำงาน กับนโยบาย “กัญชาเสรี” โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องเปิดใจคนวัยทำงาน กับนโยบายกัญชา กรณีศึกษาประชาชนคนวัยทำงานทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,116 ตัวอย่าง สรุปว่า กลุ่มคนวัยทำงานผู้ชาย ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 58.5 เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย มากกว่าผู้หญิงที่มีอยู่ร้อยละ 43.2 และเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพกลุ่มต่างๆ พบว่า กลุ่มเกษตรกร เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.8 เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่กลุ่มพนักงานเอกชนมีสัดส่วนสูงที่สุด คือ ร้อยละ 71.4 เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย และที่น่าสนใจคือ นักศึกษาร้อยละ 50 และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 61.5 เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย

ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนต่อ ความเห็น มุมมอง อันหลากหลาย ต่อนโยบาย “กัญชาเสรี” ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน ต่างกันไป ตามบริบท สิ่งแวดล้อม และ ทัศนะคติ แต่ในอนาคตเป็นอย่างไร จะดี หรือ เลว ต้องติดตามกันต่อไป!