กมธ. กัญชาฯ ห่วง ใช้ช่อดอกปรุงอาหาร แนะ ใช้เฉพาะ ใบ ราก ลำต้น

73

กมธ.กัญชา กัญชง ห่วง ! ใช้ช่อดอกกัญชาปรุงอาหาร แนะ ใช้เฉพาะใบ ราก ลำต้น ขณะที่ ประธาน กมธ.ฯ ยัน ! ไม่คิดยืดเยื้อร่างฯ พร้อมจะเร่งทำร่างฉบับนี้แล้วเสร็จไม่เกินสิงหาคม เพื่อให้ช่วงสุญญากาศเหลือน้อยที่สุด

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. พร้อมด้วย นายอภิวัฒน์ จ่าตา ที่ปรึกษากมธ.ฯ ร่วมแถลงความคืบหน้า ของร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง รวมถึงข้อห่วงใยจากสังคมเรื่องของเด็ก และเยาวชน โดยกรรมาธิการฯ ได้ตระหนักเป็นอย่างดี ซึ่งที่พรรคภูมิใจไทยได้ร่างขึ้นมาตั้งแต่แรกนั้นได้มีการบัญญัติข้อห้ามเอาไว้ในเรื่องของการจำหน่าย การใช้ในเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีผู้ให้นมบุตรโดยที่ไม่ต้องมีข้อเรียกร้องใดๆ จากทุกภาคส่วน ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจุดยืนไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย ในเรื่องของความห่วงใยต่อเยาวชนเช่นเดียวกัน

ประการที่ 2 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ โดยได้แถลงข่าวตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ก่อนจะปลดล็อก ว่าทางกรรมาธิการฯ นั้นไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาในที่สาธารณะ และไม่ต้องการให้มีการใช้ในกลุ่มเยาวชน สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ย่อมแสดงให้เห็นว่าทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยส่งสัญญาณในเรื่องนันทนาการ แต่ให้เป็นไปเพื่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนสันทนาการหรือนันทนาการนั้น ก็เป็นความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ ทางกรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณา และตัดสินใจในการจัดการ และจัดระเบียบ หรืออาจจะไม่เห็นด้วย ซึ่งสุดแท้แต่กรรมาธิการฯ ที่จะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการออกกฎกติกาโดยใช้พ.ร.บ.คุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จัดให้กัญชา กัญชง เป็นสมุนไพรควบคุมที่ต้องขออนุญาต และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตเป็นภาพรวม ยกเว้นการจำหน่าย หรือการสูบในที่สาธารณะ การจำหน่ายให้เด็กเยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทำไม่ได้ ถ้าใครทำ มีโทษทางอาญา และเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดประกาศที่ 3 คือ ทางกรรมาธิการฯ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย ตั้งแต่ตัวแทนฝ่ายค้านรัฐบาล นักวิชาการที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยมาอยู่รวมกันรวม ภาคสังคม กับภาคที่ต้องการส่งเสริมนันทนาการนั้น อยู่ในที่ประชุมเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นการพิจารณา อาจจะมีมิติหลากหลายมากกว่าความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ เพียงแค่รับฟังความเห็นที่แตกต่างเท่านั้น ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าความหลากหลายตรงนี้จะนำไปสู่การพิจารณาไตร่ตรองร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คิดมิติรอบด้านครบถ้วน ขณะนี้ กรรมาธิการฯ ได้ตัดสินใจว่าจะยังรับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อมาแก้ไขปรับปรุงร่างของพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้ดีที่สุด ดีกว่าที่เคยร่างมา ตั้งแต่วาระที่ 1 และจะตระหนักในเรื่องข้อห่วงใยทั้งหมดเพื่อทำกฎหมายฉบับนี้ให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ประการที่ 4 คือ ประธานกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีความคิดที่จะทำให้การร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง นั้นยืดเยื้อ หรือยืดออกไปอย่างยาวนานไม่มีขีดจำกัด โดยแจ้งว่ามีความประสงค์ จะทำให้ร่างฉบับนี้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด เพื่อทำให้ช่วงสุญญากาศนี้ เหลือน้อยที่สุด และก็อยู่ในช่วงบรรยากาศนี้ให้น้อยที่สุดด้วย และเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทั้ง 4 ประการไม่มีความจำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชการกำหนด เพราะการออกเป็นพระราชกำหนดนั้น อาจจะส่งผลเสียที่ทำให้เกิดความไม่หลากหลายเหมือนกับในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ และอาจจะกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ต้องการใช้กัญชาทางด้านสุขภาพ ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเห็นว่าเวทีกรรมาธิการน่าจะเป็นเวทีที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ในการรวบรวมความเห็นที่หลากหลาย ในการออกกติกาในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทั้งนี้ ประมาณการว่าอาจจะภายในเดือนกรกฎาคม หรือไม่เกินสิงหาคม กฎหมายฉบับนี้ในส่วนของกรรมาธิการฯ ต้องแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใย ถึงเรื่องของการคุ้มครองเยาวชน ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องออกพระราชกำหนด เพราะกำลังจะถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นถ้าท่านใดเห็น ว่ากฎหมายยังไม่สมบูรณ์ โปรดส่งความเห็นเข้ามาเพื่อจะได้มาปรับปรุงรายมาตราให้สมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ข้อห่วงใยด้านลบ ซึ่งมีความจำเป็นให้สังคมต้องตระหนักและระมัดระวัง

“ วันที่ 24 มิถุนายน 65 เวลา 7:00 น. มีคนเข้าไปใน Application ปลูกกัญ ขององค์การอาหารและยา 41 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก และมีผู้แจ้งจำนวนการลงทะเบียนแล้วเสร็จไปแล้ว 924,209 คน ออกใบรับจดแจ้งไปแล้ว 895,525 คน ซึ่งหมายถึงว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญต่อการตัดสินใจของกรรมาธิการและพี่น้องประชาชนทุกคน ดังนั้น ความต้องการในการปลูกกัญชาไม่ควรจะถูกกลบกระแสไปด้วยความหวาดกลัวเกินจริง ของพืชที่ชื่อ กัญชา กัญชง”

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประชาชนควรคำนึงถึง 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.) ในปี 2562 ที่มีการประกาศพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 และในช่วงนิรโทษกรรม อยู่ 90 วัน ก็มีการใช้อย่างกว้างขวาง หลายมิติ มีการขึ้นทะเบียนกับอย.จำนวนมาก แม้จะมีการเข้าโรงพยาบาลในช่วงแรกเพราะมีความอยากลอง แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นก็จำนวนลดลงมาเป็นลำดับด้วยการให้ความรู้กับประชาชน เราจึงเชื่อว่าสถานการณ์นี้จะเป็นปัญหาชั่วคราวเท่านั้นที่เราต้องเปลี่ยนผ่านในช่วงรอกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง

2.) ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่ในการปลดล็อกส่วนอื่น ที่ไม่ใช่ช่อดอก เช่น ใบ ราก ลำต้น ซึ่งมีคุณค่าทางอาหาร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้ถูกนำมาใช้ในร้านอาหารหลายแห่ง ไม่เคยปรากฏว่า การใช้ในร้านอาหารนั้นก่อให้เกิดความโกลาหล ประชาชนมีความต้องการใช้จำนวนมาก หรือความไม่ปลอดภัยมีน้อยมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านอย.ทั้งหมด มีความปลอดภัยสูงมาก ไม่เป็นอันตราย ดังนั้น ถ้าหวาดกลัวเกินไปจนเลยขอบเขตในข้อเท็จจริง ตรงนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของธุรกิจกัญชา กัญชง เช่นเดียวกัน

“ ทางกรรมาธิการฯ ห่วงใยในเรื่องผลข้อควรระวังอันเนื่องมาจากการใช้โดยเฉพาะกัญชา ในส่วนของช่อดอก ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรนำมาปรุงอาหารเลย ดังนั้น ถ้าจะใช้ประกอบอาหาร ควรใช้แค่ใบ ราก ลำต้น เป็นหลัก แม้จะใช้ใบแล้วก็ไม่ควรเข้าไปอบ นำความร้อนละลายในไขมัน หรือแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มฤทธิ์ในส่วนของที่มีโอกาสทำให้เกิดอาการมึนได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปี สังคมลดผลกระทบไปได้มาก ดังนั้นคนส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจนอกจากมือใหม่ที่ไม่เคยรู้ จึงขอให้ตระหนักในการปรุงอาหาร ใช้กัญชาเริ่มจากใบกัญชาที่น้อยที่สุด”

3. ) สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจกัญชง ปัจจุบันมีการระงับธุรกิจกัญชา ลามไปถึงกัญชง ทั้งๆ ที่กัญชง มีสาร THC น้อยมาก ที่ผลิตเป็นน้ำมันก็ CBD 0 ซึ่งไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทเหมือนกับสาร THC แล้วก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีประโยชน์อย่างมหาศาลแต่ก็ถูกความหวาดกลัวที่เกินเลยความเป็นจริง แยกแยะไม่ออกจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ของ กัญชง ด้วย ซึ่งความกลัวเหล่านี้อาจจะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจในธุรกิจกัญชงที่อาจจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

สิ่งที่เป็นห่วงตอนนี้คือ การนำเสนอข่าวหรือการเผยแพร่ข่าวที่เกินในความเป็นจริงใน 2 ข้อ คือ ประการแรก การลงข่าวหรือการแถลงข่าวที่นำผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาโดยไม่ได้ตรวจสอบดูว่าคนเหล่านั้นใช้กัญชาจริงหรือไม่ อันเนื่องมาจากกัญชาอยู่ในช่วงสุญญากาศ และไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว อาจจะมีคนเสพยาอย่างอื่นแล้วอ้างว่าใช้กัญชา “ คนที่เขาใช้กัญชาจริงๆ ส่วนใหญ่จะหลับครับ จะไม่ได้ออกฤทธิ์ทางการกระตุ้นประสาท เพื่อก่อเหตุร้าย หรือก่ออาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว ที่เราห่วงใยคือการไม่ตรวจอย่างละเอียด ว่า คนเหล่านั้นใช้กัญชาจริงหรือไม่จริง “

ประการที่สอง) ที่ข้อห่วงใย คือ มีการใช้กัญชารวมกับสารกระตุ้นอื่นๆ เมื่อเข้าโรงพยาบาล และอ้างแต่กัญชาเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะ เช่นการดื่มแอลกอฮอล์ ผสมกับกัญชาก็ดี การเสพยาบ้าหรือโคเคนร่วมกับกัญชาก็ดี แล้วอ้างโยนทั้งหมดมาให้กัญชา เพื่อให้ตัวเองนั้นพ้นผิด หรือไม่ต้องถูกสอบสวนในเรื่องคดีที่มาของยาเสพติดเหล่านั้นด้วย “ ทุกคนยินดีรับฟังและต้องการความจริง แต่ไม่ต้องการเอาความตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุไปทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของพี่น้องกัญชา กัญชง ที่ปลูกในวิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก ที่ต้องได้รับการดูแลในฐานะที่เขาได้ปลูกมาอย่างสุจริต และเห็นคุณค่าทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ”

นายปานเทพ กล่าวยืนยันว่า กฎหมายที่นำมาใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นประกาศของกทม. ประกาศของกระทรวงอุดมศึกษา รวมไปถึงมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขตามพ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การออกเรื่องการใช้กัญชาในที่สาธารณะ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำให้สังคม อยู่ในความสงบได้ แต่ยังมีผู้กระทำความผิดอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องปัญหาของกฎกติกา การที่มีผู้กระทำความผิดอยู่ในขณะนี้ ต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายมีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย การแจ้งเบาะแสเป็นเรื่องดี ว่ามีการกระทำความผิดในการจำหน่ายให้เยาวชน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีกติกามากพอ ปัญหาคือเราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

“ ตอนนี้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาถึงเรื่องการอนุญาต ซึ่งอนุญาตจะรวมถึงนำเข้า ส่งออก จำหน่าย ผลิต ปลูก ทุกอย่าง ซึ่งกรรมาธิการฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ได้แบ่งแยกว่า ใครก็ตามที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ณ เวลานี้ต้องไม่ขาย ใช้ในครัวเรือน อย่างนี้จดแจ้ง ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ แต่เมื่อไหร่ที่คิดจะจำหน่าย ต้องมีกติกา เพราะมันกระทบกับผู้อื่น เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สังคม”

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นสำหรับการปลูกนั้น ทางกรรมาธิการฯ ได้กำหนดเอาไว้ว่า ปลูกเพื่อจำหน่ายน้อยกว่า 5 ไร่ให้ถือเป็นรายเล็ก ไม่ต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม และไม่ต้องมีการจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นเบื้องต้น ในคราวต่อไปก็จะลงมติว่าจะเห็นชอบในหลักการนี้อย่างไร ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้มีความมุ่งหวังจะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน แต่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำจากการใช้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับสังคม