สถานการณ์ร้อน!! ระบบทหารในกองทัพ ปะทะนักการเมืองรุ่นใหม่

66

จับตาสถานการณ์การเมืองก่อนเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ “วิกฤตราคาน้ำมัน” กำลังบั่นทอนประเทศไทย สะท้อนภาพการแต่งตั้ง “คนในกองทัพ” มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เข้าทางฝ่ายค้าน ตั้งป้อมถล่ม ผลโพล กระแทกซ้ำ ผู้นำจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

ปัญหาวิกฤตน้ำมันแพง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ทำให้รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังหาแนวทางแก้ไขกันอย่างเร่งรีบ ทว่ายิ่งแก้ ปัญหาก็ยิ่งยุ่งอีรุงตุงนัง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ส่วนใหญ่ต่างพาเหรดขึ้นราคากันไปตามๆ กัน

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น “หัวหอก” ในฐานะ ประธานคณะทำงานแก้วิกฤตราคาน้ำมันทำเอาหลายฝ่ายมึนงง!! เพราะแทนที่จะแต่งตั้งทีมงานด้านเศรษฐกิจ จากกระทรวงพลังงาน ที่มีหน้าที่โดยตรง หรือควรจะเป็นตัวแทนจาก “สภาพัฒน์” หรือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มีข้อมูลตัวเลขต่างๆ ครบถ้วน มารับผิดชอบ กลับไปมอบหมายให้หน่วยงานด้านความมั่นคง

กรณีดังกล่าว ถูกฝ่ายค้านยกมาโจมตี “ใช้คนไม่ถูกงาน ใช้งานไม่ถูกคน” และเตรียมนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี บวก 10 รัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ระหว่าง วันที่ 19 -22 ก.ค.2565

แน่นอนที่สุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ เป้าหมายหลัก พลิกดูเอกสาร ที่ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หน.พรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุ ข้อกล่าวหาว่า“….ตลอดระยะเวลาร่วมแปดปีที่บริหารประเทศมาในฐานะนายกรัฐมนตรี ผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศ ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนได้เลย ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นต้นตอ ที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่มีความซับซ้อน ขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม ยาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนในชาติแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่า มีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรั้งท้ายของอาเซียน….”

นับเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง และที่ยกมานี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น !!

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ยกราคาน้ำมัน ยุครัฐบาล “บิ๊กตู่” กับยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเทียบกันให้เห็นกันชัดๆ โดยยุครัฐบาล “บิ๊กตู่” ราคาน้ำมันดิบ ตลาดโลกอยู่ที่ 110 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ลิตรละ 35 บาท แต่ยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ราคาน้ำมันดิบตลาดพุ่งพรวดไปถึง 136 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันขายปลีก ยังไม่เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างด้านแก้วิกฤตราคาน้ำมัน ระหว่างทั้งสองรัฐบาล ต้องติดตามดูกันว่า “บิ๊กตู่” จะแก้ตัวอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเป้าหลักในการอภิปรายของฝ่ายค้านแล้ว ยังมีรัฐมนตรีสำคัญ ที่น่าสนใจอีกหลายคน หนีไม่พ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจ (ภท.)โดย “อนุทิน” ถูกกล่าวหาว่า “มีพฤติกรรมทำลายระบบการเมืองด้วยการรู้เห็นเป็นใจ สนับสนุนการใช้เงินและผลประโยชน์เพื่อมุ่ง ดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปสู่ยุคการใช้เงินและผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจทางการเมือง …ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการของกระทรวงสาธารณสุข….มีการใช้งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศ”ด้าน “ศักดิ์สยาม” ถูกข้อกล่าวหาว่า “บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ มีพฤติกรรมใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ….มีการใช้งบประมาณจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะ …ไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วน ของ “สองคู่หู” จากพรรคภูมิใจไทย โดย อนุทิน โดนหนักกรณีใช้ “พลังดูด” ดึงเอา ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นมาเข้าสังกัด โดยเฉพาะจากเพื่อไทย ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” โดนเรื่องการประมูลที่ส่อไปในทางทุจริตไม่โปร่งใสหลายโครงการในคมนาคมสำหรับอีกคนที่ขาดไม่ได้ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ โดยเฉพาะปัญหาสินค้ามีราคาแพง “….ล้มเหลวและไร้ความรู้ความสามารถ ในการบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงในกำกับดูแล ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง…”

และก็ยังมีอีกหลายๆ คน ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในโครงการประมูลท่อน้ำดิบของ อีอีซี สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ไอซีที จากการระบาดของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลชุดนี้ ถูกฝ่ายค้าน นำ ”บิ๊กตู่” และ รัฐมนตรี ที่ส่อทุจริต ขึ้นเขียง ขึงพืด กลางสภาฯ มาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถน็อคเอ้าท์ ได้ซักครั้งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามสูตร “คณิตศาสตร์การเมือง” เมื่อรัฐบาลมีเสียงมากว่า ก็ย่อมชนะโหวตในสภา

แต่ผลที่ตามมา คือ หากข้อมูลของฝ่ายค้าน เป็นข้อเท็จจริง เชื่อถือได้ แม้ไม่ต้องมีหลักฐาน แต่สามารถ “เปิดแผลทุจริตได้ชัดเจน” ก็ย่อมชนะใจประชาชนที่ติดตามอยู่นอกสภา ผลลัพธ์จะตามมาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หลังจากรัฐบาลชุดนี้ครบเทอม 4 ปีอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงของรัฐบาล คือ ผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ปรากฏออกมาค่อนข้างตรงกันว่า คะแนนนิยมของรัฐบาลออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งคำถามถึงตัวบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งประชาชนจะเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี “นิด้าโพล” ระบุว่า อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 เลือก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง

อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล

ขณะที่ อันดับ 4 ร้อยละ 11.68 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ เอง ภายในลึกๆ จะรู้สึกอย่างไร คงไม่มีใครตอบได้ แต่จากคำให้สัมภาษณ์สื่อ ดูจะไม่รู้สึกกังวล “โพลก็คือโพลแล้วแต่ใครจะทำ ผมเห็นมีการทำผลสำรวจ 3 – 4 สำนักผลไม่ตรงกัน ทั้งนี้ให้ฟังและให้ดูไว้ ซึ่งจะต้องประเมินจากการทำงาน และผลที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ส่วนที่ประชาชนจะพอใจอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ เพราะผมทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อคนจำนวนมากในทุกมิติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ และงานมีความยากง่ายและการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน เพราะเราต้องดูแลคนกว่า 70 ล้านคน ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง”มีบทวิเคราะห์ ที่น่าสนใจ ต่อผลโพลดัง กล่าว ระบุว่า …เกิดอะไรขึ้น กับคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” ถ้าพูดกันโดยไม่มีอคติ ถือว่า “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ที่โชคร้าย เพราะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤติหลายด้าน อย่างโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยพินาศไปเยอะ ปีนี้ก็มาเจอวิกฤติราคาพลังงาน ศึกรอบด้าน

ประกอบกับตัว “บิ๊กตู่” มีปัญหาในการสั่งงาน เลียนแบบระบทหารใน “กองทัพ” ทำให้ มองเรื่อง “ต้องใช้คนที่อยู่ในสายความมั่นคง” โดยตลอด ตั้งแต่เรื่องโควิด ที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามามีบทบาท ต่อสถานการณ์มาก และมาเรื่องราคาพลังงาน ก็เห็นมอบหมายให้ สมช. วางแผนตั้งรับดูแลราคาพลังงานอีก มันเหมือนใช้คนไม่ตรงงาน การใช้คนของ “บิ๊กตู่” ก็ยังถูกครหาเรื่องพวกพ้อง ส.ว. ที่ก็เหมือนสภาทหารแก่ เป็นการตั้งพรรคพวกเกษียณมากินเงินหลวงต่อ

ขณะที่กระแสของ “อุ๊งอิ๊ง” มาจากความอยากได้คนรุ่นใหม่ ซึ่งอานิสงส์ส่วนหนึ่งก็มาจาก “ชัชชาติ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานถึงลูกถึงคน นำเทคโนโลยี มาใช้ “ไลฟ์สด” ให้ชาวบ้าน เห็นตลอดเวลา มีพลังล้นเหลือ เกิดปัญหาที่ใด ไปถึงสถานที่รวดเร็ว และแก้ไขเร็ว ทำให้คนอยากให้ความร่วมมือ สำหรับความนิยมทางการเมือง “ชัชชาติ” กับ “อุ๊งอิ๊ง” ก็มีภาพร่วมกันคือเป็นคนรุ่นใหม่ และมาจากสายเพื่อไทย

ก็เป็นบทวิเคราะห์ ที่สะท้อนภาพ ระหว่าง สองกลุ่มขั้วการเมืองที่ทรงอิทธิพล และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น!