“สนธิรัตน์”ชี้ ค่าไฟแพงระยับ กระทบปชช. ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทุนเชื้อเพลิง

67

“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาฯพรรคสร้างอนาคตไทย และ อดีตรมว.พลังงาน  ชี้ ค่าไฟแพง กระทบ ประชาชน-นิคมอุตสาหกรรม ทำการแข่งขันประเทศลดลง แนะ แก้ปัญหาที่การจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงอันดับแรก

วันที่ 3 ส.ค. 2565 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีการปรับขึ้นค่าไฟ และผลกระทบที่จะตามมา โดยมีเนื้อหาระบุว่า ขออนุญาตชวนทุกคนมาคิดเรื่องค่าไฟด้วยกัน เพราะอย่างที่เราได้รู้ก่อนหน้านี้ คือค่าไฟในเดือนกันยายนถึงธันวาคมที่จะถึงนี้ ราคาจะขึ้นไปเป็นหน่วยละเกือบ 5 บาท ที่เป็นอย่างนี้เพราะค่าเอฟที (FT) เพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ หลายคนคงยังไม่ทราบว่าค่าเอฟทีคือค่าอะไร ทำไมต้องปรับขึ้นลงเป็นช่วง ๆ และถ้าขึ้นลงทีไรกระทบค่าไฟทุกที

ดังนั้นขออธิบายง่าย ๆ ว่า ค่าเอฟที หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร คือค่าที่ใช้ปรับสำหรับ การจัดการต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าเงิน เป็นต้น พอค่าพวกนี้ปรับตัวขึ้นหรือลง ค่าเอฟที ก็จะปรับตาม เราต้องทราบว่าก๊าซธรรมชาตินั้นถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการใช้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ NGV และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ที่ค่าเอฟทีขึ้นช่วงนี้ สาเหตุหนึ่งเกิดจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่เอามาผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ โดยตั้งแต่หลังสงครามรัสเซีย ยูเครน ราคาก็เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลงมาตลอด ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ค่าเอฟทีปรับเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม อีกสาเหตุหนึ่งคือการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านในการสำรวจขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเรา ที่แหล่งบงกชเอราวัณ ที่เกิดปัญหาจากการเข้าไปดำเนินการผลิตที่ล่าช้าจากแผนเดิม ทำให้เกิดปัญหากับความสามารถในการผลิต และการส่งก๊าซ ทำให้เราต้องพึ่งพิงจากการใช้ก๊าซภายนอกประเทศที่ราคาเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น ค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่ม ถ้าเรายังจัดการปัญหานี้ไม่ได้ แม้ตอนนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยแบกรับผลกระทบที่มีตรงนี้แล้วก็ตาม แต่การจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นสิ่งแรกที่ต้องพิจารณา

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าก๊าซ ค่าเอฟทีนี้ ไม่ได้มีผลแค่เพียงประชาชนทั่วไปที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟ แต่ยังส่งผลกระทบกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือ นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เช่นกัน เพราะด้วยราคาก๊าซที่แพงขึ้นทำให้โรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้บางแห่งต้องหยุดเดินเครื่องไปด้วย เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการ SPP เองก็ได้พูดถึงความต้องการในการช่วยดูเรื่องต้นทุนการผลิตของพวกเขา เพราะต้นทุนหลาย ๆ อย่างได้เพิ่มขึ้น และค่าเอฟทีเองก็ไม่สอดคล้องกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้การหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กก็ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้มีแหล่งสำรอง ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานก็อาจจะไม่มั่นคง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดไปในที่สุด

“วันนี้ถ้าเรามาพูดเรื่องค่าไฟ ก็ต้องพูดเรื่องต้นทุน ค่าเอฟที ค่าก๊าซ ค่าเชื้อเพลิงการผลิต ที่จะส่งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่ต้องรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าวในที่สุด