ปรากฏการณ์ หักดิบ กลับลำ ปมแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง กลับไปใช้สูตรหาร 100

155

กำลังร้อนแรงและทำให้หลายฝ่ายต้องออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอึงคะนึง ต่อการแก้ไขพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ว่าจะเอาสูตรหาร100 หรือ หาร500 ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” จนทำให้มีการพลิกกลับไปกลับมา เบื้องหน้า เบื้องหลัง เป็นอย่างไร น่าสนใจยิ่ง!

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ว่าด้วยการพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ต่อการหักดิบของพรรคเพื่อไทย ที่ส่งสัญญาณให้ ส.ส.ไม่อยู่ร่วมการประชุมรัฐสภา เพื่อต้องการตีตกสูตรคำนวน หาร 500 ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ “ปาร์ตี้ลิสต์” เพื่อให้กลับไปใช้สูตรหาร 100 ที่เป็นจุดยืนของ พรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่ต้น

แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ กลับมี ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ของพลังประชารัฐส่วนหนึ่ง ชูธงร่วมด้วยช่วยกันกับเพื่อไทย ผนึกกำลัง ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้การประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ไม่ครบองค์ประชุม จนทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องสั่งปิดประชุมที่สำคัญ การแก้ไขสูตรเลือกตั้งเพื่อคำนวนจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำเป็นต้องให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ซึ่งต้องดำเนินการให้จบภายในวันที่ 15 ส.ค.2565 โดยจะมีการประชุมรัฐสภาเหลืออยู่ 2 วัน คือ วันที่ 9-10 ส.ค. แต่จู่ๆ วุฒิสภากลับหักดิบทวงคืนวันประชุมกลับไปอีก 1 วัน คือ วันที่ 9 ส.ค. อ้างว่า มีกฎหมายเร่งด่วนต้องดำเนินการ ทำให้เหลือเวลาประชุม ที่จะพิจารณา สูตรคำนวน ส.ส.เพียง 1 วัน คือ วันที่ 10 ส.ค.2565 เท่านั้น

สะท้อนเค้าลางความผิดปกติขึ้นตั้งแต่วันนั้น !!

อย่างไรก็ตาม เราต้องย้อนกลับไปดูการประชุม กมธ.ที่เป็นปฐมเหตุของเนื้อหา ว่าด้วยสูตรการเลือกตั้งให้ชัดๆ อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจ

ประเด็นสำคัญ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มี 2 แนวคิด 1. หารด้วย100 กับ 2. หาร 500 แนวคิดแรกจะทำให้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน สูงกว่าหารด้วย 500 มีผลทำให้พรรคเล็กหมดโอกาส และพรรคใหญ่อาจชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ได้ ที่ประชุม กมธ.เสียงข้างมาก 31 ต่อ 11 เสียง เห็นด้วยกับการหาร 100 และที่ประชุมได้เสนอรายงานต่อประธานสภาแล้ว ส่วนการหาร 500 มีการระบุว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ระบุว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องหารด้วย 100 เท่านั้น และตามหลักการที่ กกต. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีประเด็นเรื่องหาร 500 อย่างไรก็ตาม กมธ.เสียงข้างน้อยได้สงวนคำแปรญัตติ ให้หาร 500 เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงความเห็น!

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของประเด็นร้อนทางการเมืองในห้วงเวลานี้! สะท้อนให้เห็นการเล่นเกมการเมืองอย่างเด่นชัด และถูกหลายๆ ฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์ กันอย่างอึงคนึง !วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ฟันธงคนแรกว่า เป็นผลจากการจับมือร่วมกัน หรือ “ฮั้ว” ของรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เล่นเกมเตะถ่วงกฎหมายลูก หวังกลับไปใช้สูตรหาร 100 สอดคล้องกับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ฟันธงเช่นกันว่า เป็นความตั้งใจของฝ่ายการเมืองที่จะให้องค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ เพื่อหวังผลเรื่องการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.

กรณีดังกล่าว ทำให้มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทั้งจากคนวงในการเมือง และวงนอกที่สนใจการเมือง

นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.ปชป. โพสต์หัวข้อ “อุดมคติทางการเมือง หรือจะสู้คณิตศาสตร์ทางการเมือง” ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อ 21 พ.ย. 2564 ยังไม่ทันได้ใช้ และ ยังแก้ไขไม่ถึงปีเสียด้วยซ้ำปรากฎว่า สมาชิกรัฐสภาชุดเดียวกันนี่แหละ ก็เปลี่ยนใจจะมาแก้ไขใหม่ ด้วยการตีความเบี่ยงเบนให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 แต่ก่อนลงมติในวาระสุดท้าย พรรคการเมืองก็เห็น “คณิตศาสตร์ทางการเมือง” ว่า หากจะให้หารด้วย 500 พรรคตัวเองจะเสียเปรียบ เลยเปลี่ยนใจอีกครั้ง จะกลับไปใช้ 100 หารตามเดิมน่าเวทนา ตรงที่ ตั้งแต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 มาจนถึงเดือน สิงหาคม 2565 สมาชิกรัฐสภาชุดนี้ เปลี่ยนใจในการตีความรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ครั้ง คือ หาร 100 หาร 500 และจะกลับไปใช้หาร 100 อีก

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญที่สุด แต่ใน 1 ปี สมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนใจ กลับไป-กลับมา กับกม.สูงสุดแล้วถึง 3 ครั้ง เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นกระดาษถุงกล้วยแขก จะฉีกอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ครั้งนี้ เป็นการฉีกด้วยการเบี่ยงเบนการตีความเข้าข้างตนเอง โดยประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วยเลย ใครจะไว้วางใจก็ไว้วางใจไปเถอะ ผมไม่เอาด้วย ลองเถียงมาดู

 สาธิต ปิตุเตชะ รองหน.พรรค ปชป. โต้โผหลัก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึง การส่งสัญญาณอาจกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 ว่า กฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายมาตรา วาระ 2 โดยหลังผ่านวาระ 3 ต้องส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หาก กกต. มีความเห็นสูตร 500 ขัดรัฐธรรมนูญ และคิดว่าเป็นปัญหา ก็จะกลับไปสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่เสียเวลานำไปสู่การพิจารณาของสภาร่วม เพื่อมาแก้ไขในมาตรา 23 เกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส. รวมทั้งมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องส่วนที่มีการมองสาเหตุที่กลับมาใช้สูตร 100 เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่ได้เปรียบจากสูตร 500 นายสาธิต ระบุว่า ตนไม่ได้ดูว่าใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ตนร่างกฎหมายและกติกาการเลือกตั้งเพื่อความเป็นธรรม ส่วนใครจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน กติกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ส่วนการกลับไปกลับมาจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาหรือไม่เขายอมรับว่าหากกลับไปกลับมาจริง ประชาชนก็จะไม่เชื่อมั่น และต้องตำหนิคนที่พยายามเล่นเกมว่ามีเหตุผลอะไรที่คิดแบบนั้น ซึ่งเชื่อประชนชนรู้ว่าใครคิดยังไงและอยากให้เป็นอะไร มันปิดกันไม่มิด

เช่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งทุบโต๊ะ เอาหาร 500 ทั้งที่เดิมทีจะเอาหาร 100 เพราะอะไร นายกฯ กลัวพรรคเล็กจับมือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถล่มรัฐบาล สรุปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เพราะอยากอยู่ ไม่ใช่อยู่เพราะอยากแก้ปัญหาประเทศ“สมมติว่า ถ้าหาร 500 ก้าวไกลก็จะปาร์ตี้ลิสต์เยอะ แต่ถ้าหาร 100 เพื่อไทยก็จะได้เยอะ ดังนั้นไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 เพื่อไทยบวกก้าวไกลก็ 300 กว่าแล้ว ไหนพรรคเสรีรวมไทย ก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม พรรคประชาชนก็ได้ด้วย ยังไงฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่แคร์ เพราะยังไงรวมกันก็เกิน 300 แน่นอน ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ไม่ถึง 200 หรอก นี่ให้เต็มที่แล้วนะ”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนยันจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับเกมหักดิบครั้งนี้ โดย องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ปชป. ยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการเล่นเกมใดๆ ในสภาฯ เพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง เราขอทำหน้าที่ของเราในฐานะสมาชิกรัฐสภาอย่างเต็มที่บนพื้นฐานหลักการดังนี้1. ประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุมสภาตามปกติ และเดินหน้าทำหน้าที่ไปตามกระบวนการรัฐสภา

2. ประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมกระบวนการวางแผนทำให้สภาล่ม

3. ประชาธิปัตย์เคารพการตัดสินใจในการลงมติของสมาชิกรัฐสภา

และ 4. ประชาธิปัตย์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ว่าสูตรคำนวณหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะใช้วิธีหาร 500 หรือหาร 100 ก็ตาม โดยเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในฐานะสมาชิกรัฐสภาเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญสุดท้ายไปฟังความเห็นของนักวิชาการ ชัยธวัช เสาวพนธ์ นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่ มองว่า

“เดิมพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนสูตรหาร 100 ภายหลังไปสนับสนุนสูตรหาร 500 เพื่อชิงความได้เปรียบเลือกตั้งสมัยหน้าและสนับสนุนพรรคเล็กได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม ที่สำคัญกลัวพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ แต่หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือซักฟอกรัฐบาล ที่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคขนาดเล็ก และ ส.ส.งูเห่า ลงมติไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 11 ราย ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เห็นว่าพรรคเล็ก และ ส.ส.งูเห่า มีอำนาจต่อรองผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนการลงมติดังกล่าวมากเกินไป ทำให้การเมืองถอยหลังลงคลอง ไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเมืองประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตมาโดยตลอด เนื่องจาก กฎกติกา ที่ออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจ จนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และ การแก้ไขกติกาการเมืองให้เป็นสากลและเป็นธรรม

ยากต่อการเยียวยา !!!