19 ปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล นวัตกรรมไม่รู้จบ จากมหาลัยสู่รับใช้ชุมชน

191

ครบรอบ 19 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” พัฒนาไม่รู้จบ เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” ถ่ายทอดความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชม เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 19 ปี โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(2543-2551)เป็นแห่งแรงของโลก เพื่อนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการคิดค้นวิจัยด้านฮาลาล การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลว่าปนเปื้อนสิ่งฮารอมหรือไม่

ในโลกยุคปัจจุบันที่ระบบการผลิตมีความซับซ้อน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตอย่างยั่งยืน “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ทำหน้าที่วางรากฐานวิทยาศาสตร์ฮาลาลในประเทศไทย คิดค้นวิจัยงานด้านฮาลาล จนกลายเป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล มีความโดดเด่นในพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับสู่สังคมทั้งสังคมมุสลิม สังคมไทยและสังคมโลก เป็นส่วนสำคัญให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยที่าส่งออกไปต่างประเทศไทยได้รับการยอมรับ

จากการทำงานในห้องแล็บในมหาวิทยาลัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการลงไปสู่ชุมชน ขยายขอบเขตสู่การบริการภาคชุมชนและงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างธุรกิจฐานรากในชุมชน โดยการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” เพื่อองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นที่มาของการ เปิด’ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล’ ที่จังหวัดนครนายก เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองการก่อตั้งครบรอบ 19 ปี

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 19 ปีของการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขับเคลื่อนงานบริการชุมชนด้วยการขยายขอบเขตงานสู่การบริการภาคชุมชนและงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจฐานรากในชุมชน และภายในวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์ฯ ในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นี้ ทางศูนย์ฯ พร้อมทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” และพิธีเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลัน อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ในการดำเนินงาน จากมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

จากโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการแปรรูป รวมถึงการปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรไปสู่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่เป็นที่ต้องการของตลาดจากวัตถุดิบทางการเกษตรและพืชในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ดังนั้นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลสามารถช่วยในการเพิ่มมูลค่าผลิตทางการเกษตรได้

“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” (Halal Innovation Community Learning Center) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย มูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ ซึ่งมีนโยบายร่วมกันที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรั้มหาวิทยาลัยสู่ภาคชุมชน เป็นการต่อยอดภาคทฤษฏีสู่ภาคปฏิบัติ เน้นพัฒนาธุรกิจฮาลาลเพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกในการพัฒนานวัตกรรมฮาลาลในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบการเกษตร งานพัฒนาผลิตภัณฑ์คอสเมติก เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยในการให้ความรู้กับประชาชนสู่ชุมชนในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีแผนงานที่ร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ เพื่อทำโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) ให้กับเยาวชนในชุมชน เพื่อสร้างรากฐานกระบวนการคิดที่เป็นระบบ การสอนเพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อสร้างคนคุณภาพสู่สังคมต่อไป รศ.ดร.วินัย กล่าว

ในวันเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้จัดกิจกรรมเดินวิ่งการกุศล ในช่วงเช้า และเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล ในช่วงสาย มี ดร.จักรพันธ์ สิทธิรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้ร่วมงาน อาทิ ประธานอิสลามประจำจังหวัดนครนายก สมาชิกวุฒิสภา กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ครอบครัวดะห์ลัน เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก

สำหรับศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล ตั้งบนพื้นที่ 4 ไร่กว่า หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง อาทิ อาคารมูลนิธิฯ อาคารปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ห้องปฏิบัติการ ห้องครัว ห้องรับรองแขก ร้านกาแฟรับรองแขก เปิดให้ผู้สนใจเข้าขอคำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล

รู้จักตระกูลดะห์ลัน จากปู่วีรบุรุษชาวอินโดฯสู่หลานวินัย ดะห์ลัน
เมื่อเจ้าอาณานิคมประกาศลบอิสลามออกจากอินโดนีเซีย บุรุษผู้นี้”อะห์หมัด ดะห์ลัน”ลุกขึ้นสู้รักษาอิสลามจนยืนยาว – M TODAY

กิจกรรมเดินวิ่งการกุศล