“ษิทรา”นำ! ผู้เสียหายคดีทางข่มขืน ร้องรมว.ยุติธรรม เร่งออกกฎหมายคุมเข้ม

69

“สมศักดิ์” รับหนังสือ “ษิทรา” ร้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคดีข่มขืนหลังพ้นคุก หวั่นทำผิดซ้ำ รมว.ยธ. เผย มีกฎหมาย JSOC ใหม่พอดี สั่ง ติดกำไล EM คุม 10 ปี ปิดช่องทำผิดอีก หากพบพฤติกรรมเสี่ยง สั่งขังฉุกเฉินทันที เหยื่อ ปลื้ม ช่วยสร้างความปลอดภัยให้ผู้หญิง

วันที่ 1 ก.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือจาก นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม ที่ได้นำผู้เสียหายจากคดีทางเพศ มาร่วมยื่นหนังสือด้วย เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมช่วยหามาตรการป้องกันปัญหาทางเพศนายษิทรา กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายคดีความผิดเกี่ยวกับเพศจำนวนหลายราย โดยส่วนมากผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม มีอิทธิพล เป็นผู้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง อาจใช้อำนาจของตนแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และมักกระทำความผิดซ้ำๆ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงขอให้ นายสมศักดิ์ และ กระทรวงยุติธรรม ได้หาทางป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิดทางเพศ หรือหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของผู้ที่กระทำผิดทางเพศ หรือใช้ความรุนแรงนั้น กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC ที่ขณะนี้ ได้ผ่านจากการพิจารณาของ ส.ส. และ ส.ว. แล้ว อยู่ระหว่างรอการบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยสาระสำคัญ มีสองมาตรการ คือ 1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด 2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพันโทษ โดยใช้กับผู้กระทำผิดข้อหา ฐานความผิด ใน 3 กลุ่ม คือ 1.เกี่ยวกับเพศ 2. ชีวิตร่างกาย และ 3. เสรีภาพ ระยะเวลาการเฝ้าระวัง สูงสุด 10 ปี จะมีการใช้กำไล EM มาใช้ในการควบคุม และ ติดตามตลอด 24 ชั่วโมง และ ระหว่างการเฝ้าระวัง หากมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือ ฝ่าฝืนเงื่อนไข ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง สามารถเข้าควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ พนักงานคุมประพฤติ จะดำเนินการเสนอรายงานต่ออัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน ไม่เกิน 7 วัน และ เสนอเปลี่ยนจากมาตรการเฝ้าระวังเป็นคุมขัง ได้ไม่เกิน 3 ปีนายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดูว่าแต่ละคนจะต้องติดกำไล EM ระยะเวลาเท่าไร จะพิจารณาจากประวัติการกระทำผิด ความรุนแรงของการกระทำผิด โทษที่ได้รับและความเสี่ยงจะไปกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดการจำแนก โดยบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ทนาย เหยื่อ สื่อมวลซน หรือ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านผู้เสียหาย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการกลับมาทำผิดซ้ำของผู้ที่ทำผิดในช่วงระหว่างควบคุมและหลังจากการถูกควบคุม จะมีความแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ทำอีก พร้อมมองว่าเรื่องทำผิดเกี่ยวกับเพศเกิดขึ้นบ่อยโดยเฉพาะกับผู้หญิง และผู้เสียหายมักไม่ค่อยกล้าออกมาแจ้งความ จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรม ออกกฎหมายมาช่วยสังคม และขอให้ช่วยแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีกฎหมายนี้ออกมาควบคุมผู้ทำผิด แต่ยังกังวลว่าเขาอาจจะมีการว่าจ้างคนอื่นให้ไปร้ายผู้เสียหายแทนตัวเองหรือไม่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่น่ามีใครกล้ารับจ้าง เพราะคนจ้างมีกำไลติดอยู่ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการว่าจ้างจะมีความผิดเพิ่ม และเรามีอาสาสมัครคุมประพฤติที่จะช่วยดูแลในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงคนในครอบครัวที่จะช่วยกันสอดส่องไม่ให้ไปทำ ที่ผ่านมาคนที่ติดกำไล EM จะกลัว เพราะมีระบบที่ทันสมัย และหากพวกเขายังทำผิดอีกก็จะต้องถูกลงโทษเพิ่มอีก