เข้าสู่โหมด “ด้อมส้ม” ต้อง “ลุ้น” เก้าอี้นายกของ “พิธา” อาจหัวใจวายได้

25

หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จวบจนบัดนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 1 เดือน บรรดาผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นส.ส. ก็ยังไม่มีใครได้รับการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” พรรคก้าวไกล ซึ่งกวาด ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ต้องออกมายื่นหนังสือกดดัน กกต.ให้เร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดทางให้มีการสภาเลือกประธานสภา และประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ จะได้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

แต่ กกต.จะไปเร่งรีบตามที่ฝ่ายอยากเร่งรัดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกับคำร้องเรียนมากถึง 280 เรื่อง

ตามกฎหมายให้อำนาจ กกต. 60 วัน ในการตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานจาก กกต.ได้พิจารณาครบทั้ง 400 เขตแล้ว เตรียมประชุมประกาศรับรอง 329 คน และแขวนไว้ 71 คนในการประชุมสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ พร้อมกับพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ส.ส.เขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วว่าทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง

ถ้าดูตามตัวเลขนี้ 329+100 คน = 429 คน ตัวเลขยังไม่ครบ 95% หรือ 480 คน คาดว่า หลังจากนั้น กกต.จะหยิบ 71 คนมาทบทวน และอาจจะประกาศรับรองไปก่อนสอยทีหลัง เพื่อให้งานกิจการสภาเดินหน้าไปได้

โดยคาดว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ได้วันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นให้ ส.ส.ทยอยไปรับเอกสารรับรองได้ที่สำนักงาน กกต. และนำเอกสารรับรองมารายงานตัวต่อสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมสถานที่ไว้พร้อมแล้ว

มีการประมาณกาลว่า ถ้า กกต.รับรองผลการเลือกตั้งได้ครบ 95% แล้ว วันจันทร์ที่ 24 ก.ค.2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ เปิดประชุมสภา และวันที่ 25 ก.ค.2566 จะเป็นการประชุมสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานสภา ในวัย 85 ปี น่าจะมีอาวุโสสูงสุด (ไม่แน่ใจว่ามีใครอายุมากกว่านายชวนหรือไม่)ทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว

หลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงเวลาของความระทึกของ “ด้อมส้ม” คือวาระเลือกนายกรัฐมนตรี

ต้องโฟกัสไปที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าจะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่ หลังได้รับการประกาศให้เป็น ส.ส.

อย่างที่ทราบกันดีว่า พิธา ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือหุ้นสื่อ “หุ้นไอทีวี” แม้ว่า กกต.จะไม่รับไว้พิจารณา แต่ กกต.กลับหยิบเอามาตรา 151 ของ พปร.ว่าด้วยการเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา “รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติ แต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครในระบอบบัญชีรายชื่อ” ซึ่งถ้ามีมูลก็ต้องฟ้องต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และ มีโทษหนักกว่า ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง

อีกประเด็น หาก กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปยื่นใหม่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญอีกรอบ

โดยสรุปอนาคตของ “พิธา” จะต้องไปจบที่ศาล ไม่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ ศาลอาญา และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นกับขบวนการขั้นตอนของ กกต.และ ศาล รวมถึงผลโหวตของสมาชิกรัฐสภาด้วย ที่ต้องเพ่งไปที่สมาชิกวุฒิสภา !

#นายหัวไทร #พิธา #นายกรัฐมนตรี