ยังไม่ราบรื่น! เมื่อ ส.ว.ไม่เลือก “พิธา” เป็น นายกฯ จับตา “พีระพันธุ์” จะได้ “ส้มหล่น”

67

การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง น่าจะจบลงแบบไม่ราบรื่นนัก ที่ประชุม ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง “ประธานสภา” จะเป็นของพรรคใดระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย “พิธา” บอกว่า ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน อย่าเปิดประเด็นใหม่

ดูจากสีหน้าของทุกคู่ ไม่สดใสร่าเริงเหมือนตอนแถลงจับมือ ส่งรอยนิ้ว จับมือรูปหัวใจ แต่วันนี้ไม่ใช่ ไม่มีรอยยิ้มให้เห็น

ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้น เป็นตอน ถ้าพิจารณากันตามข้อเท็จจริง คือมีเวลาแค่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้ ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องแจ้งเรื่องทิศทางในการเลือกประธานสภาว่า จะเป็นอย่างไร จะต้องเลือกใครจากพรรคไหนพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภา จากนั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ก็จะเป็นการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา และ รองประธานสภาสองตำแหน่ง

หรือ การโหวตเลือกประธานสภาฯ จะย่างเข้าสู่โหมด “ฟรีโหวต” จริงๆ และถึงแม้จะฟรีโหวต และพรรคก้าวไกลเสนอชื่อคนของพรรค ก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ยังจะยกมือให้คนของพรรคก้าวไกลเป็นประธานสภา เพื่อให้การจัดตั้งเดินหน้าต่อไปได้ แล ะทอดเวลาไปสำหรับการเจรจาต่อรองทางการเมือง เพราะเมื่อโหวตเลือกประธานสภาแล้ว มีเวลาอีก 10 วัน ในการกำหนดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เกมต่อไปคือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงวันนี้ ทำไม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถึงยังไม่บอกกล่าวกับใครว่า “ตกลงซาวเสียง สว.แล้ว เขาจะเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีสักกี่คน”

ทำให้สงสัยได้ว่า หรือ 1 เดือนของความพยายามในการกล่อม สว.ให้กลับใจมาเลือกพิธา ยังย่ำอยู่ที่เดิม ที่ 6-7 เสียง หรือ 19-20 เสียง ยังไม่ขยับเข้าไปใกล้ 64 เสียง เพื่อให้ได้ 376 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

หรือใจมันสั่นๆ ที่จะพูดความจริง ความจริงที่ว่า เรามีเสียง ส.ส.อยู่ 312 เสียง และมี ส.ว.ใจเต็มร้อยให้พิธาแค่ 6-7 เสียง ที่เหลือรับปาก แต่ไม่ยืนยัน แน่นอนว่า ทางการเมืองใครไปหาเขาก็รับปากหมดแหละ ไม่มีใครปฏิเสธต่อหน้าหรอก

เหมือนเวลา ผู้สมัคร ส.ส.ไปพบหัวคะแนน ไปคุยกับชาวบ้าน ทุกคนรับปากจะช่วยรับปากจะเลือกทุกคน จนทำให้ผู้สมัครหลงตัวเองว่า “เสียงดี-กระแสตอบรับดี”

แต่ผลคะแนน ผลโหวตจะเป็นตัวขี้วัด ระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบการมีส่วนร่วม ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรงผ่านขบวนการเลือกตั้ง ทางอ้อม คือตัวแทนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทำหน้าที่แทน

14 ล้านเสียงนั่นคือ ทางตรงที่ประชาชนออกไปเลือกพรรคก้าวไกล และ เป็น 14 ล้านเสียงที่ทรงพลัง หนุนก้าวไกล หนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ในการเจรจา ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ด้อยกว่าเพื่อไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย

วันนี้ก้าวไกล 151 เสียง จึงตกเป็นรองต่อเพื่อไทย 141 เสียง ทำนอง “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ซึ่งข้อเท็จจริงก้าวไกลขาดเพื่อไทยก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หันซ้ายก็เห็นศัตรู หันขวา เราก็เคยตั้งป้อมจะปลดล็อคเขา เดินไปข้างหน้าก็เห็นป้อมปราการที่มีอายุหนักเล็งอยู่

โอ้…ก้าวไกลจะเดินต่ออย่างไรดี หรือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บอกได้เลยครับว่า “เจ๊ง” การเมืองไม่มีธรรมชาติ มีแต่การล็อบบี้ ต่อรองทั่งนั้น

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลเดิม จะเสนอคนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และชื่อคนลงชิง ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ ก็จะเป็นชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ถ้าพรรคพลังประชารัฐเสนอก็จะเป็นชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

“พีระพันธุ์” ยอมสละเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับทิ้งประโยคเด็ด “ไม่ทิ้งลุงตู่ จะอยู่ช่วยจนคนสุดท้าย” มีความหมายโดยนัยยะทางการเมืองอย่างไม่น่ามองผ่าน

วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่า ซีก 188 เสียงต้องโหวตให้ “พีระพันธุ์” แล้วดันมี ส.ว.200 คนโหวตเลือก “พีระพันธุ์” จะทำให้เสียงมี 388 เสียง “ส้มก็จะหล่น” ใส่ แบบเต็มตีน !

ไม่ได้เชียร์ “พีระพันธุ์” แต่ถ้า “ก้าวไกล” ไม่ชัด คำตอบของโจทย์ยาก อาจจะมาในรูปนี้ก็เป็นได้

#นายหัวไทร