บางปู .. ธรรมชาติอันน่าหลงใหล หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณอาจจะอยากไป!!

788

“บางปู” ยิ่งดูยิ่งมีเสน่ห์…ลอดอุโมงค์โกงกาง บนเส้นทางป่าชายเลนสุดสมบูรณ์/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่: 23 เม.ย. 2560 16:25:00
โดย : ปิ่น บุตรี([email protected])

“ตำนานบางปู สืบรู้โกงกาง กระยางงามถิ่น ดินแดนอนุรักษ์”

นี่คือคำขวัญ“บางปู” ที่บ่งบอกถึงตัวตนของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน สำหรับบางปูแล้วนี่คืออีกหนึ่งอะเมซิ่งไทยแลนด์อันชวนค้นหา ซึ่งเมื่อได้มาสัมผัสก็ยิ่งรับรู้ถึงมนต์เสน่ห์ที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่มากยิ่งขึ้น

บางปู ชุมชนริมอ่าวปัตตานีที่วันนี้มีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนชวนให้ไปสัมผัส

บางปูที่ผมกล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่สถานตากอากาศบางปูในจังหวัดสมุทรปราการที่หลายๆคนรู้จักกันดี หากแต่เป็น“ตำบลบางปู”ที่ตั้งอยู่ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แห่งดินแดนด้ามขวานของไทย

บางปูเป็นชุมชนมุสลิมริม“อ่าวปัตตานี”ที่มีความเป็นมาเก่าแก่นับร้อยปี ชื่อชุมชนบางปูมีที่มาจากความเป็นแหล่งปู หรือบ้าน(ของ)ปู เนื่องจาก(ในอดีต)ในละแวกนี้มีปูดำอยู่เป็นจำนวนมาก(ด้วยอานิสงส์ของป่าชายเลนยะหริ่ง)

เดิมชาวบ้านบางปูจะประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านประมาณ 70-80 % ตามมาด้วยการเลี้ยงเป็ดและประกอบอาชีพอื่นๆ ก่อนที่มาในวันนี้ชาวบ้านบางปูส่วนใหญ่จะหันมาประกอบอาชีพขายสินค้ามือสองเป็นหลัก แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังคงเหนียวแน่นกับการทำประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปูดำตามสภาพธรรมชาติ และออกเรือหากุ้งหอยปูปลา

พูดถึงชุมชนบางปูแล้วจำเป็นที่ตะต้องพูดถึงอ่าวปัตตานีควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากอ่าวปัตตานีเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนบางปูและชาวบ้านชุมชนอื่นๆในละแวกนี้

อ่าวปัตตานี มีพื้นที่ประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นรูปอ่าวโค้งรูปวงรี ปากอ่าวเปิดออกเชื่อมกับอ่าวไทย มี“แหลมตาชี”หรือ “แหลมโพธิ์”ที่เกิดจากสันทรายทับถมกันเป็นแนวยาวยื่นขนานกับแนวแผ่นดินใหญ่ไปในทะเล แบ่งพื้นที่อ่าวไทยกับอ่าวปัตตานีออกจากกัน

ชาวบ้านรอบๆอ่าวปัตตานีเรียกท้องน้ำบริเวณอ่าวปัตตานีว่า “ลาโอะ” ที่หมายถึง “ทะเลใน” และเรียกพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทยด้านนอกอ่าวปัตตานีว่า “ลาโอะ ลูวา” ที่หมายถึง “ทะเลนอก”

ในส่วนของทะเลในที่วันนี้อ่าวปัตตานีต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรร่อยหรอ เนื่องจากที่ผ่านมามีคนบางกลุ่มใช้ทรัพยากรกันอย่างล้างผลาญไม่บันยะบันยัง แต่ในพื้นที่ทะเลในบริเวณก้นอ่าวปัตตานีวันนี้ยังมี“ป่าชายเลนยะหริ่ง”อันอุดมสมบูรณ์ เป็นดังโอเอซิสซึ่งเป็นทั้งปอดและพื้นที่สีเขียวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของภาคใต้

ป่าชายเลนยะหริ่งมีพื้นที่เกือบหมื่นไร่ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งวันนี้มีทั้งป่าชายเลนที่เป็นผืนป่าเก่าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าโบราณ” ที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางหนาทึบ ต้นสูงใหญ่ โกงกางหลายๆต้นสูงเกินกว่า 10 เมตรขึ้นไป และป่าชายเลนที่กำลังเกิดใหม่อันเกิดจากธรรมชาติสรรค์สร้างและเกิดจากการปลูกป่าเพิ่มเติม

ป่าชายเลนยะหริ่ง ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์ไม้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มถั่วขาว-ถั่วดำ กลุ่มไม้ตะบูนดำ กลุ่มไม้ตาตุ่มทะเล โกงกาง ฝาดดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกขาว ขลู่ แสมขาว โพธิ์ทะเล ปรงทะเล ผักเบี้ยทะเล จาก ลำพู ลำแพน เป็นต้น

อย่างไรก็ดีป่าชายเลนยะหริ่งที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งนั้นก็เคยประสบปัญหาผืนทรัพยากรเสื่อมโทรม จากการที่เคยเป็นผืนที่สัมปทานตัดป่าโกงกางมาเผาถ่าน และชาวบ้านบางส่วนมุ่งใช้ทรัพยากรกันแบบไม่ใส่ใจในการอนุรักษ์ ไม่คำนึงถึงอนาคต

จนกระทั่งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 เกิดพายุใหญ่พัดถล่มพื้นที่อ่าวปัตตานีอย่างหนัก ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ริมอ่าวถูกพายุพักถล่มบ้านเรือนพังทลายเสียหายกันเป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านที่อยู่หลังพื้นที่ป่าชายเลนยะหริ่งได้รับผลกระทบเพียงถูกน้ำท่วมไม่นาน เนื่องจากว่ามีป่าชายเลนเป็นเกาะกำบังคอยรับพายุที่พัดถล่มถาโถม บ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่หลังผืนป่าชายเลนจึงได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

นั่นถือเป็นการจุดประกายสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนยะหริ่งของชาวชุมชนส่วนใหญ่ ซึ่งวันนี้ด้วยอานิสงส์ความสำคัญของอ่าวปัตตานีและความสมบูรณ์ยิ่งของป่าชายเลนยะหริ่ง ทำให้เกิดกิจกรรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวปัตตานีขึ้น เพื่อให้ชาวชุมชนได้รู้สึกหวงแหน รู้คุณค่า และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของตน เนื่องจากสร้างมารถสร้างรายเสริมจากการท่องเที่ยวอันเป็นผลที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

Cr. manager