ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ ดัชนีขี้วัดการเข้าร่วมรัฐบาล

54

“มืดมน” คือคำตอบที่ได้รับจากปากของแกนนำ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 6 สิงหาคม คำว่า “มืดมน” สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นบุคคลที่มีแววว่าจะนำพาพรรคไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องเป็นบุคคลที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำการเปลี่ยนแปลง และ ที่สำคัญคือต้องยึดมั่นใน “เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์”

มีวิธีคิด มุมมองใหม่ๆกับสถานการณ์ที่ “ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ผู้นำพาพรรคจะต้องมากบารมีก่อนหน้านี้ที่ปรากฏชื่อ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยพูด ไม่เคยเปิดเผย “หล่อใหญ่” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่รู้ว่า “อภิสิทธิ์” จะยังยืนหยุดลงชิงอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งถ้า “อภิสิทธิ์” ลงชิง แม้จะไม่ใหม่ซิงๆ แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง พอจะเห็นแวว เห็นแนวทาง ซึ่งถ้าเป็นไปตามข่าว ถ้าอภิสิทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จะใช้เวลากับการคิด การทำงาน เพื่อฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ในบทบาทของฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือ ผลักดันกฎหมายสำคัญๆในการแก้ไขปัญหาชาติเป็นด้านหลัก

นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคจากภาคเหนือ ภายใต้การผลักดันของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรค “เดชม์อิศ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ซึ่ง นราพัฒน์ เข้ามาสู่วงการการเมืองสืบทอดต่อจากบิดา “ไพฑูรย์ แก้วทอง” ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคจะเฟื้องฟู หรือตกต่ำ “แก้วทอง”ไม่เคยตีจากประชาธิปัตย์ ร่วมยืนหยัดต่อสู้มาตลอด แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ยังไม่มีใครยืนยันว่า “นราพัฒน์” ยังยืนยันจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่หรือไม่?

มีบางกระแสบอกว่า สายเฉลิมชัยอาจจะส่ง “ดร.เอ้” ชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงชิงแทน แต่ก็เป็นแค่กระแสข่าวเช่นกัน ไม่มีใครยืนยัน ซึ่งถ้าส่ง ดร.เอ้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านข้อบังคับพรรค คนชิงหัวหน้าพรรค ต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ดร.เอ้ น่าจะเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม. แต่ก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของดเว้นใช้ข้อบังคับได้ แต่ด่านหินคือต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3/4 ถ้ามั่นใจว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ลงชิงได้ ถ้ามั่นใจ และไม่กลัวถูกขุดคุ้ยปูมหลัง

ส่วน “ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” ที่เปิดตัวจะลงชิงด้วย ก็เป็นน้ำจิ้ม หรือ ผักเหนาะ ให้สีสรร ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ ด้าน “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค ที่เปิดตัวก่อนใคร ก็ถอนตัวไปตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมแล้ว โดยไม่รู้ว่าสาเหตุลึกๆจริงๆ คืออะไร ซึ่งต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน หรือ เป็นการถอนตัวเพื่อส่งต่อคะแนนให้ทีมเฉลิมชัย เพราะต้องไม่ลืมว่าอลงกรณ์ ทำงานใกล้ชิดเฉลิมชัยในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ และแสดงบทบาทนำมาโดยตลอดแต่ประเด็นใหญ่ของประชาธิปัตย์ คือจะเข้าร่วม หรือ ไม่เข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของเพื่อไทย มีข่าวหนาหูหลัง “นายกฯชาย” เดชม์อิศ ขาวทอง เดินทางไปฮ่องกง และได้พบปะพูดคุยกับทักษิณ ชิณวัตร กับข้อเสนอ 19 เสียง พร้อมสนับสนุนเพื่อไทย แต่เข้าใจว่าเพื่อไทย คงไม่อยากได้ 19 เสียง คงอยากได้ทั้งพรรค 25 เสียง และ เข้าร่วมโดยมติพรรค ซึ่งแน่นอนว่าซีกของผู้อาวุโส คงไม่ประสงค์เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เพราะถือว่า เพื่อไทยคือคู่แข่ง และสู้รบปรบมือกับระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2543 ในยุค “ทักษิณ” ไล่มาจนถึง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ , สมัคร สุนทรเวช และ ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร จู่ๆจะนำทัพไปร่วมสมทบแบบ “ลืมอดีต” น่าจะเป็นไปได้ยาก

“จุดยืน” ของพรรค ประชาธิปัตย์คือ 1.ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112 2.ไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) 3.ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย 4.พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางอย่างไร ซึ่ง “ชัยชนะ เดชเดโช” รักษาการรองเลขาธิการพรรค ระบุว่า ถ้าดูเงื่อนไข 4 ข้อกับช่องทางที่เพื่อไทยเปิดไว้ ประชาธิปัตย์ก็ไม่น่าจะติดตรงไหนในการเข้าร่วมรัฐบาล

แต่สภาพความเป็นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร อนาคตจะต่ำสิบตามคำสบประมาทหรือไม่ การเข้าร่วมรัฐบาล ได้นำนโยบายพรรคไปใช้แก้ปัญหาชาติ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับฟื้นคืนชีพจากภาวะสลบไสลได้หรือไม่?

เป็นประเด็นที่แกนนำพรรคจะต้องคิดให้จงหนัก นำบทเรียนในอดีตมาถอด อย่างการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ดีขึ้น นโยบายหลายข้อของ ประชาธิปัตย์ก็ได้นำไปใช้ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร

ก่อนหน้านี้ ประชาธิปัตย์เคยมีคะแนนมากถึง 10 ล้านเสียง แต่พอเลือกตั้งปี 62 ลดลงเหลือ 3 ล้านกว่าเสียง ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเพียง 9 แสนกว่าคะแนน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน คือ “ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์” ถ้านำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วที่เคยเป็นคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมา น่าสนใจยิ่งว่า อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร จะดีขึ้น หรือตกต่ำกว่าเดิม

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาว่าอนาคตประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ เช่นกัน !

#นายหัวไทร #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน #ชิงหัวหน้าปชป.