เป็นประเด็นใหญ่ทั่วโลก-เฟซบุ๊กถอดคลิป “หนุ่มภูเก็ตฆ่าตัวตายพร้อมลูก”- “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” เสียใจ

821

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขระบุผู้ก่อเหตุเผยแพร่วิดีโอสดการฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะต้องการฟ้องสังคมและให้มีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาที่ไร้ทางออกของตัวเอง แนะคนรอบข้างช่วยปฐมพยาบาลทางจิตใจด้วยการสอดส่องมองหาผู้มีความเสี่ยง ใส่ใจรับฟังพวกเขา และส่งต่อให้แก่ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตดูแล เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกกับบีบีซีไทย กรณีชายหนุ่มวัย 20 ปีถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เหตุการณ์แขวนคอลูกสาววัย 11 เดือน ก่อนแขวนคอตัวเองตายตาม ว่าปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ที่ฆ่าตัวตายรู้สึกว่า หากตนเองเสียชีวิตไปคนเดียว คนที่อยู่จะเป็นภาระ จึงต้องเอาชีวิตของลูกไปด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

ถ่ายทอดสดเพื่อฟ้องสังคม

“ส่วนปรากฏการณ์ที่มีการถ่ายทอดลงในเฟซบุ๊กก็เป็นปัญหาของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เนื่องจากคนที่มีปัญหาต้องการที่จะฟ้องร้องสังคมว่าปัญหาของเขาต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะในขณะที่เราอยากจะทำร้ายชีวิตตัวเอง ก็รู้สึกว่าต้องมีคนอื่นมารับผิดชอบต่อเรื่องของเรา อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความหมดหวัง ไม่รู้ว่าจะหาออกทางอย่างไรที่ดีกว่านี้” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า หากพบเห็นการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กไม่ควรส่งต่อเพราะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ หากภาพเหตุการณ์ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ และผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจมาพบเห็น อาจจะด่วนสรุปว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดผลไม่ดีตามมา สิ่งที่ควรทำคือ รีบติดต่อผู้ก่อเหตุเพื่อพูดคุยประวิงเวลา และให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกจากนี้ยังควรรีบติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินให้เข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ให้เร็วที่สุด

ฝูงชนรวมตัวที่จุดเกิดเหตุฆ่าตัวตายImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพผู้คนมารวมตัวกันที่จุดเกิดและชมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระหว่างนำศพของพ่อลูกลงจากตึก

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่ต้องการจบชีวิตตัวเองมักจะมีสาเหตุที่ซับซ้อน อาจจะมีปัญหาทางอารมรณ์ในการควบคุมตัวเอง การดื่มสุรา มีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว มีปัญหาด้านหนี้สิน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดจากปัญหาง่ายๆ และมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

ปฐมพยาบาลทางจิตใจด้วย 3 ส.

โดยนายแพทย์ยงยุทธ ได้แนะนำให้คนในสังคมรู้จักการปฐมพยาบาลทางจิตใจเพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีหลักการสำคัญ 3 อย่างคือ 1.สอดส่งมองหา ผู้ที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติการฆ่าตายตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตาย 2.ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา ซึ่งจะนำไปสู่ประการที่ 3.ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล

“ลำพังจะให้เจ้าตัวเข้าหาบริการเองมันยาก เพราะเวลาที่เรามีปัญหามักจะคิดว่าปัญหาอยู่ที่คนอื่น คนอื่นทำให้เรามีปัญหา” นายแพทย์ยงยุทธ กล่าว

 ปฐมพยาบาลทางจิตใจ

ด้วย 3 ส.

  • 1 สอดส่องมองหา ผู้มีภาวะซึมเศร้า มีประวัติฆ่าตัวตาย เคยความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • 2 ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย อย่ามองข้ามปัญหาของเขา
  • 3 ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้เชียวชาญทางสุขภาพจิตดูแลรักษาผู้ที่มีอาการรุนแรง

หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุด้วยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่วงการสุขภาพจิตโลกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฐมพยาบาลทางจิตใจ และมีการขอให้บุคคลที่มีชื่อเสียงออกมารณรงค์เรื่องนี้ โดยการรณรงค์ให้ผู้คนกล้าพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ก็สอดคล้องกับหลักการปฐมพยาบาลทางจิตใจเช่นกัน

นายแพทย์ยงยุทธ ระบุว่า ในช่วงปี 2555-2559 ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการรักษาผู้มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นในประเทศไทย พบว่าอัตราการเข้าถึงการรักษาของผู้มีภาวะซึมเศร้า เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 60% โดยการเข้าถึงการรักษาเป็นการช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 6 คนต่อประชากร 100,000 คนซึ่งไม่ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาหลายอย่างรอบด้าน ตัวเลขนี้ได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 6 คนเศษเท่านั้น และคนฆ่าตัวตายทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 3,000 คน

คนในสื่อสังคมออนไลน์ไม่พอใจ

ด้านผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์ต่างแสดงความคิดเห็นต่อเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น หลังได้ชมคลิปเหตุการณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นชายที่ก่อเหตุผูกเชือกรอบคอของลูกสาวตัวเองก่อนจะหย่อนเธอลงมาจากดาดฟ้า และดึงศพของเธอขึ้นมา

สื่อไทยและเพจเฟซบุ๊กบางแห่งได้รายงานโดยอ้างพี่เขยของผู้ก่อเหตุ ว่าก่อนเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุได้ทะเลาะกับภรรยาและขู่ฆ่า เธอจึงพาลูกสาวมาที่บ้านของเขา แต่ผู้ก่อเหตุได้ตามมาและพาตัวลูกสาวออกจากบ้านไป จากนั้นเขาได้เห็นคลิปผู้ก่อเหตุกำลังทำร้ายลูกสาวทางเฟซบุ๊ก จึงรีบแจ้งให้ญาติ ๆ ช่วยตามหาพร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามกระทั่งพบว่าทั้งคู่เสียชีวิตแล้ว

เจ้าหน้าที่กำลังดึงศพขึ้นImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันนำศพของพ่อลูกลงจากตึกในจังหวัดภูเก็ต รองโฆษกตำรวจเปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่าการสังหารที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในไทย

ผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาเขียนข้อความด่าทอผู้ก่อเหตุ และแสดงความสงสารเด็กไร้เดียงสาที่เสียชีวิตจากฝีมือของพ่อแท้ ๆ ของตัวเอง ขณะที่หลายคนได้ขออโหสิกรรมที่เข้ามาดูคลิปเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้ในเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งที่โพสต์คลิปเหตุการณ์นี้ จนถึงช่วงค่ำของวันนี้ (25 เม.ย.) ได้มีผู้ส่งต่อมากกว่า 600 ครั้ง

โดยมีรายงานว่าญาติของเด็กหญิงรวมถึงแม่ของเธอ ได้รับศพเด็กหญิงและพ่อของเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว

งานหนักของเฟซบุ๊ก

ด้านเฟซบุ๊ก ได้แสดงความเสียใจต่อทางครอบครัวเด็กหญิงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญ และระบุว่าได้นำคลิปออกจากระบบแล้ว แต่วิดีโอนี้ยังอยู่ในเว็บไซต์ยูทิวบ์ และทางบริษัทยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น

ก่อนหน้านี้ ทางเฟซบุ๊กได้รับปากที่จะทบทวนกระบวนการทำงาน หลังจากเกิดเหตุถ่ายทอดสดภาพการฆาตกรรมในสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายชั่วโมงในเดือนนี้

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเฟซบุ๊กกำลังพยายามทำให้กระบวนการตรวจสอบเนื้อหาที่มีความรุนแรงมีความรวดเร็วมากขึ้น

ลีโอ เคเลียน บรรณาธิการข่าวเทคโนโลยีของบีบีซี ระบุว่า เหตุการณ์ในเมืองไทยเกิดขึ้นไม่ถึงครึ่งเดือนหลังจากเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งในสหรัฐฯ คุยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าเขาได้ฆ่าคนอายุ 74 ปีในเมืองคลีฟแลนด์ และได้โพสต์คลิปวิดีโอการสังหารทางสื่อสังคมออนไลน์

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า “มีงานมาก” ที่ต้องทำหลังจากเกิดเหตุคลิปฆาตกรรมถูกเผยแพร่นานกว่า 2 ชั่วโมงทางเฟซบุ๊ก ทั้งที่มีผู้ส่งคำร้องเรียนเข้าไปจำนวนมาก

ก่อนหน้านั้น ก็ได้เกิดเหตุถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กการเสียชีวิตของชายคนหนึ่งในนครชิคาโก้ ซึ่งถูกยิงที่คอและศีรษะเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่วนในเดือนกรกฎาคมผู้หญิงคนหนึ่งได้ถ่ายทอดสดการเสียชีวิตของแฟนหนุ่ม หลังจากที่เขาถูกตำรวจในเมืองมินนีอาโพลิสยิง

นอกจากนี้ยังมีการรายงานเข้าไปทางเฟซบุ๊กจำนวนมากเกี่ยวกับ การล่วงละเมิดทางเพศ การทารุณกรรมสัตว์ และการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊ก

ชายที่ถ่ายทอดสดตัวเองผ่านเฟซบุ๊กบอกว่าฆ่าคนอื่นImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพชายที่ระบุว่าตัวเองชื่อ สตีวี่ สตีฟ ปรากฏในคลิปวิดีโอที่เขาถ่ายทอดสดตัวเองผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าได้ฆ่าคนตาย และได้โพสต์คลิปการฆาตกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์

โดยทางเฟซบุ๊กกำลังพยายามหาทางให้ทีมงานตรวจสอบ ซึ่งมีพนักงานหลายพันคน ได้ตอบสนองต่อเรื่องราวเหล่านี้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ป้องกันการส่งต่อภาพเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กด้วย

ทางเฟซบุ๊กยังได้กำลังสำรวจการใช้ข้อมูลข่าวกรองที่ทำขึ้นเอง ในการตรวจสอบว่าวิดีโอและภาพใดที่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ แทนที่จะรอให้มีผู้ใช้งานส่งรายงานแจ้งเข้ามา

บรรณาธิการข่าวเทคโนโลยีบีบีซี ระบุว่า สิ่งที่ยังไม่มีการหารือกันก็คือ ความคิดในการยกเลิกการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก หรือ เฟซบุ๊กไลฟ์ ทั้งหมด นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว ทวิตเตอร์และยูทิวบ์ก็เป็นหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้บริการถ่ายทอดสดด้วย หากเฟซบุ๊กยกเลิกบริการเฟซบุ๊กไลฟ์ก็จะเสียเปรียบ ดังนั้นก็คงจะมีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่พอใจต่อเฟซบุ๊กต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความนิยมในเฟซบุ๊กไลฟ์ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่เฟซบุ๊กจะจับตามองการถ่ายทอดสดของผู้ใช้งานทุกครั้งได้

Cr. bbcThai