3 ปีงบเฉียดแสนล้าน! ไฟใต้ลวกมือ คสช.

327

ใกล้ครบ 3 ปีของการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช. ปัญหาหนึ่งที่เป็น “วาระแห่งชาติ” และหลายฝ่ายเคยเชื่อมั่นว่า คสช.จะแก้ไขได้สำเร็จ ก็คือปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้เพราะองคาพยพของ คสช.เต็มไปด้วยขุนทหารที่มากความสามารถ น่าจะสร้างเอกภาพในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ดีกว่ารัฐบาลพลเรือน

แต่วันนี้ผ่านมาเกือบ 3 ปี ต้องถือว่า “ไฟใต้” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ คสช.ทำไม่สำเร็จ

นวัตกรรมผ่านโครงสร้างองค์กรที่ คสช.ใช้ในการแก้ไขปัญหา นอกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ แล้ว ปัจจุบันยังมี คปต.ส่วนหน้า และ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ผทพ.) ที่นำโดย พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ซึ่งเพิ่งประเมินผลงานรอบ 6 เดือนไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ด้วย

คณะผู้แทนพิเศษ หรือ ครม.ส่วนหน้า ถูกตั้งขึ้นเพื่อประสานงาน 3 ด้าน คือความมั่นคง งานพัฒนา และการสร้างความเข้าใจ คะแนนประเมินออกมาในระดับปานกลางกับมาก แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่วิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง

คสช.เข้ามาบริหารประเทศช่วงกลางปี 2557 และจัดทำงบประมาณดับไฟใต้ 3 ปีงบประมาณหลังสุด คือ ปี 2558 จำนวน 25,744 ล้านบาท, ปี 2559 จำนวน 30,886 ล้านบาท และปี 2560 เฉพาะตัวเลขที่โชว์ในเอกสารงบประมาณ ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 12,692 ล้านบาท (รวม 3 ปีงบประมาณ 69,322 ล้านบาท)

ตัวเลขที่ดูเหมือนลดต่ำลงมากในปีงบประมาณ 2560 นี้ ไม่ใช่สะท้อนว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เป็นตัวเลขงบประมาณที่ยังไม่รวมงบพัฒนาจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) อีก 21,843 ล้านบาท และยังไม่รวมงบเบี้ยเลี้ยง กับค่าตอบแทนพิเศษกำลังพลอีกจำนวนมาก รวมๆ แล้วตัวเลขประมาณการณ์น่าจะสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งยังมีงบพัฒนาที่คณะผู้แทนพิเศษ หรือ ครม.ส่วนหน้า อนุมัติอีก 1,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ชัดว่าอยู่ในแผนเดิมหรือเป็นงบที่ตั้งเพิ่มเข้าไปใหม่ และมีงบกลางอีกราว 25 ล้านบาทด้วย

ฉะนั้นหากนับเฉพาะงบประมาณดับไฟใต้ที่ คสช.จัดสรรเองกับมือ ตลอด 3 ปีงบประมาณ จะพบว่าตัวเลขพุ่งสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว

คำถามคือ ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร?

เริ่มจากงานพัฒนาที่คณะผู้แทนพิเศษอ้างผลประเมินว่าประชาชนพึงพอใจมาก แต่เมื่อเหลียวดูโครงการพัฒนาหลายๆ โครงการยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ตัวอย่างชัดๆ คือ โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ หรือมัสยิด 300 ปีที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกคัดค้านจากชมรมอิหม่ามและชาวบ้านในพื้นที่จนเดินหน้าต่อไม่ได้ ขณะที่หน่วยงานรัฐใช้การจัดจ้างวิธีพิเศษ ภายใต้งบประมาณเกือบ 150 ล้านบาท แต่บริษัทที่ไปว่าจ้างกลับถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เข้าขั้นล้มละลาย

ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ก็ยังไม่รู้ผิดฝาผิดตัวหรือไม่ แต่ 2 ปีที่ผ่านมีการตั้งงบส่วนนี้ไว้ราวๆ ปีละ 40-45 ล้านบาท เป็นงบรักษาและสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้าต่อไป รวม 2 ปีก็เกือบร้อยล้าน

มาถึงวันนี้ บีอาร์เอ็นมีผู้นำคนใหม่หรือยัง ฝ่ายความมั่นคงยังให้ข้อมูลไม่ตรงกัน, คณะพูดคุย “มารา ปาตานี” เป็นตัวจริงหรือไม่ รัฐบาลก็ยังตอบได้ไม่เต็มปาก เมื่อทำสงครามโดยที่ไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้เป็นใคร มีศักยภาพแค่ไหน โอกาสชนะจึงไม่ต้องพูดถึง

ระหว่างทางของการพูดคุยก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นไม่หยุด และจู่ๆ ก็มีแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาในท่วงทำนองปฏิเสธกระบวนการพูดคุยสนทนาที่กำลังทำกันอยู่

เช่นเดียวกับประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชน ก็ยังมีปัญหาวิสามัญฆาตกรรมปริศนา (กรณีที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 29 มี.ค.60) จนเชื่อกันว่าเป็นต้นตอของปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ เหตุการณ์ (โจมตีโรงพักระแงะ จ.นราธิวาส วันที่30 มี.ค. โจมตีจุดตรวจร่วม 3 ฝ่ายที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา วันที่ 3 เม.ย.)

ขณะที่เหตุระเบิดถี่ยิบในระยะหลัง โดยเฉพาะคืนวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นระเบิดทำลายเสาไฟฟ้า 54 ต้น แม้ฝ่ายความมั่นคงตีค่าว่าเป็นแค่การ “ก่อกวน” แต่เสาไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟให้จังหวัดปัตตานีทั้งจังหวัดถูกระเบิดล้ม ทำให้ไฟดับในวงกว้าง ต้องใช้เวลาซ่อมยาวนานถึงช่วงสงกรานต์

การทำลายเสาไฟฟ้า ก็คือการทำลายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของการพัฒนาซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันและทุ่มงบจำนวนมหาศาลลงไป นี่คือสัญญะที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงส่งถึงผู้มีอำนาจ

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทุกด้านที่จะทำให้เกิดสันติสุขในพื้นที่แล้ว ต้องบอกว่าหนทางยังมืดมน และหากย้อนพิจารณาถึงงบประมาณที่ต้องสูญไปกับภารกิจนี้…บอกได้คำเดียวว่าไฟใต้กำลังลวกมือ คสช.

 

เขียนวันที่ วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2560

เขียนโดยศูนย์ข่าวภาคใต้

สำนักข่าวอิศรา