หลีเป๊ะ เป็นเกาะที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุดปีละ 8แสนคน สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศ แต่ระบบการบริหารจัดการเกาะเต็มไม่สามารถตอบสนองการพัฒนาได้ แถมมีปัญหาจาก ‘เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่เข้าใจปัญหา
เกาะหลีเป๊ะ มาจากภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาโบราณของกลุ่มภาษาอินโด-อารยันหมู่เกาะ เรียกว่าเกาะนี้ว่า “ปีนิต” แปลว่าบางๆ เพราะรูปร่างของเกาะแบนๆ บางๆ แต่เพี้ยนไปเป็น “หลีเป๊ะ” ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งจังหวัดสตูล 62 กิโลเมตร อยู่นอกเขตอำนาจของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เป็นเกาะที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีความสวยงามในระดับโลก หาดทรายขาวรอบเกือบทั้งเกาะ มีน้ำทะเลสีคราม และธรรมชาติรอบๆเกาะ ปะการัง ดอกไม้ทะเล ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาสัมผัสความงามของเกาะแห่งนี้ ทั้งนักท่องเที่ยวจากยุโรป จีน มาเลเซีย และจากหลายประเทศ
ในช่วงที่การท่องเที่ยวของไทยได้รับความนิยมสูงก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ 800,000 คน หลังเปิดท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ประมาณ 200,000-300,000 คน และในปี 2566 คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 500,000 คน หรือประมาณ 60% ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหลีเป๊ะสูงสุด
แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก นำรายได้เข้าประเทศตามมาจำนวนมากเช่นกัน แต่การบริหารจัดการเกาะอยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพน้อย โดยเกาะหลีเป๊ะ ขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เกาะสาหร่าย ซึ่งตั้งอยู่อีกเกาะ บนเกาะหลีเป๊ะ ไม่มีเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว การบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งไฟฟ้า ขยะ ตลอดจนน้ำประปา อาศัย ผู้ประกอบการบนเกาะ โดยเฉพาะสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจเกาะหลีเป๊ะ ที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดการขยะในพื้นที่ การก่อก่อสร้างถนน สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีมีมากนัก แม้จะมีการเก็บรายได้จากผู้ประกอบการในจำนวนมาก ระบบไฟฟ้าเอกชนเป็นผู้ลงทุนขายให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการ ในราคาสูงมาก หน่วยละ 24 บาท มากกว่าผู้ใช้ไฟทั่วไป ที่จ่ายค่าไฟเพียงหน่วยละ 4 บาทหลายเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิต และการประกอบธุรกิจบนเกาะหลีเป๊ะมีต้นสูง ค่าใช้จ่ายค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว แต่เมื่อเปิดตัวขึ้นมา ไม่ทันฟื้น บิ๊กโจ๊ก ก็เข้าไปเล่นงานจัดระเบียบจนวุ่นวายไปทั้งเกาะ
บนเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลที่เดินทางมาจากหมู่เกาะในอินโดนีเชีย ได้มาตั้งถิ่นฐานมานับ 100 ปี และได้จับจองพื้นที่ เกือบทั่วทั้งเกาะ ต่อมาได้ขายให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการ แต่เมื่อปี 2517 ได้มีการประกาศเขตป่าสงวนทับพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์สค.1 ที่ขาดความชัดเจนในกำหนดแนวเขตที่ดิน มีผู้ประกอบการและชาวบ้าน ถูกดำเนินคดีโดยทีมงานของบิ๊กโจ๊ก 30 คน เป็นภาระที่คนเหล่านี้จะต้องพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งการดำเนินคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน รอส่งให้อัยการ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ ก็หวังว่า จะได้รับความยุติธรรม เพราะครอบครองที่ดินมาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เกาะหีเป๊ะ ได้เปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวบนเกาะจำนวนมาก ซึ่งจะนำเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่ กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการที่พัก อาหาร การเดินเรือ และการประกอบการด้านต่างๆ ตลอดจนชาวประมง
ก็หวังว่า จะมีการเข้าไปบริหารจัดการเกาะให้มีประสิทธิภาพ ใหคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวได้นำเข้าไป