ทดสอบ ‘การฉุดชัก’ องค์ราชรถปืนใหญ่ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ ในหลวงรัชกาลที่ 9”

361

ผอ.กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก (กรซย.ศซส.สพ.ทบ.) ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ นครราชสีมา ทดสอบการฉุดชักราชรถปืนใหญ่องค์จริงที่จะใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ ในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่ศูนย์ พบมีความสมบูรณ์ทุกระบบ เตรียมส่งมอบต่อกรมศิลปากร

จากการที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มอบหมายให้กรมสรรพาวุธทหารบก (สพ.ทบ.) จัดสร้างราชรถปืนใหญ่ ที่ถือเป็นราชรถองค์สำคัญ ที่ใช้ในริ้วขบวนพระอิสริยยศ ที่ 3 ในการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถ เวียนรอบพระเมรุมาศ ก่อนประดิษฐานบนพระจิตกาธาน พระเมรุมาศ โดยถือเป็นการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งแรก หลังจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8

ที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก (กรซย.ศซส.สพ.ทบ.) ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ต.โพธิ์กลาง อ.เมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 26 เม.ย. พ.อ. (พิเศษ) นพรัตน์ นาคจันทึก ผอ.กรซย.ศซส.สพ.ทบ. มอบหมายกำลังพล ร่วมกันทดสอบการฉุดชักราชรถปืนใหญ่องค์จริงที่จะใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ใช้เวลาการทดสอบราว 1 ชั่วโมง ราชรถปืนใหญ่องค์จริงมีความสมบูรณ์ในด้านระบบตัวรถ ระบบขับเคลื่อนและระบบช่วงล่าง พร้อมส่งไปกรมสรรพาวุธทหารบก ทำพิธีส่งมอบให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการต่อในงานด้านการแกะสลักลายไม้และงานประณีตศิลป์

พ.อ.(พิเศษ)นพรัตน์กล่าวว่า จากการที่ สพ.ทบ.มอบหมายให้ กรซย.ศซส.สพ.ทบ. จัดสร้างราชรถปืนใหญ่ ที่ใช้ในริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ 3 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรซย. ศซส.สพ.ทบ. ใช้เวลากว่า 4 เดือน ดำเนินการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ จากองค์ต้นแบบที่ใช้ในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 8 มีโครงสร้างมาจากฐานปืนใหญ่แบบ 51 ที่เป็นปืนใหญ่สมัยโบราณเคยประจำการในกองทัพ มาผ่านการตรวจสอบความแข็งแกร่งทางโครงสร้าง ก่อนจัดทำขึ้นตามแบบของกรมศิลปากร ในส่วนที่ใช้ของเดิมที่นำมาปรับปรุงมาใช้ใหม่ คือ แคร่ปืน เพลาล้อ ระบบเบรก ฯลฯ

ผอ.กรซย.ศซส.สพ.ทบ. กล่าวด้วยว่า ส่วนที่จัดทำขึ้นใหม่ คือ ล้อรับน้ำหนักล้อที่ 3 ล้อหลักฐานรองพระบรมโกศ หูหิ้ว สำหรับพลฉุดชัก เป็นต้น การดำเนินการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ ทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 3 องค์ คือองค์ต้นแบบ ได้ส่งไปที่ สพ.ทบ. เมื่อเดือน มี.ค. เพื่อให้กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวัดสัดส่วน ดำเนินการแกะลายไม้และดำเนินการในส่วนงานประณีตศิลป์ ส่วนราชรถปืนใหญ่องค์จริงและองค์สำรอง กรซย.ศซส.สพ.ทบ. จัดสร้างแล้วเสร็จเช่นกัน มีกำหนดส่งไปที่ สพ.ทบ.ต้นเดือน พ.ค. เพื่อส่งมอบให้กรมศิลปากร ราชรถปืนใหญ่ทั้ง 3 องค์ ผ่านการทดสอบและการตั้งศูนย์ด้วยระบบเลเซอร์ ทดสอบการฉุดชัก ตรวจสอบระบบต่างๆวันละไม่ต่ำกว่า 5 กม. รวมแล้วทดสอบการชักลากหลายสิบกิโลเมตร จึงมั่นใจในความแข็งแรงสามารถใช้งานจริงได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด

นายสุเพล สาสตร์เสริม นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ได้คัดลอกลายพระที่นั่งราเชนทรยานสำหรับใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ เพื่อดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ให้ลวดลายคมชัดอีกครั้ง โดยคัดลอกลายพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทร–ยานน้อยองค์ใหม่ สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานสุสานหลวง ส่วนหุ่นโครงสร้างไม้ในส่วนองค์บุษบกด้านหน้าเขียนแบบแล้ว คาดว่า การคัดลอกทั้งหมดจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันระหว่างขั้นตอนของการบูรณะองค์เดิมและจัดสร้างองค์ใหม่ในพระราชพิธีครั้งนี้จะต้องเก็บบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐาน ว่าช่างสิบหมู่ได้ซ่อมเสริมสิ่งใดเข้าไปในส่วนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการบูรณะของช่างรุ่นหลังด้วยที่ห้องประชุมกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) ท้องสนามหลวง เมื่อเวลา 10.30 น. พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรอง ผอ.กอร.รส. เปิดเผยหลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการจัดการบริเวณท้องสนาม หลวง ว่า กระทรวงเกษตรฯเข้ามาจัดเตรียมพื้นที่แปลงดินและปรับหน้าดินทำแปลงนาข้าวในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และจะมีการซ้อม 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 พ.ค. ซ้อมใหญ่วันที่ 8 พ.ค. ในส่วนการอำนวยความสะดวกประชาชนในวันที่มีพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ กลุ่มจิตอาสา คอยดูแลผู้ที่จะมาร่วมพระราชพิธีและประชาชนที่จะเข้ามากราบพระบรมศพให้ทั้งสองกลุ่ม