แนวคิด “สองรัฐ” ว่า เป็นหนทางเดียวในการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และถามทิ้งท้ายว่า ถ้าหากไม่ใช่แนวทางนี้แล้วจะมีทางเลือกอื่น (ที่ดีกว่านี้) หรือไม่
ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
มติชนอนนไลน์
ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ดูเหมือนโลกจะเริ่มมองเห็นอนาคตที่สดใสของภูมิภาคตะวันออกกลาง (ซึ่งถูกมองมาตลอดว่าเป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งมากที่สุดในโลก)หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีและนโยบายจากศัตรูเป็นมิตรมากขึ้น ที่สำคัญๆ ได้แก่ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับตุรกี ระหว่างซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับกับกาตาร์ และระหว่างประเทศอาหรับ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน รวมทั้ง โมร็อกโกและซูดาน) กับอิสราเอลตั้งแต่ปี 2020 ที่เปิดทางไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สุดท้ายของการสมานฉันท์ในตะวันออกกลาง
แต่ดูเหมือนความฝันที่กำลังใกล้จะเป็นจริงกลับพังทลายหรือหยุดชะงัก เมื่อกลุ่มฮามาสช็อกโลกด้วยการบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และสังหารผู้คนกว่า 1,200 คนในวันเดียว พร้อมทั้งจับคนอิสราเอลและต่าง ชาติเป็นตัวประกันกว่า 240 คน ทุกอย่างพลันเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ว่ากันเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ การตอบโต้อย่างรุนแรงของอิสราเอลส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วกว่าหมื่นห้า และสงครามใกล้จะครบสองเดือนในเร็วๆ นี้ โดยไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้เมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยที่สุด เริ่มมีการพูดถึงอนาคตของกาซา ปาเลสไตน์และอิสราเอลตั้งแต่วันแรกๆ
ในบรรดาแนวคิดและทางเลือกต่างๆ นั้น ดูเหมือนว่า แนวคิด “สองรัฐ” (Two-statesolution) จะได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นโดยเฉพาะจากสหรัฐ ยุโรป จีน และโลกอาหรับว่าเป็นทางเลือกเดียวและทางเลือกที่ดีสุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ด้วยการสถาปนารัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการเคียงข้างรัฐอิสราเอลบนแผนที่โลก(ยกเว้นเฮนรี่ คิสซิงเกอร์ อดีต รมว.ต่างประเทศของสหรัฐ ผู้ทรงอิทธิพลในโลกการเมืองที่ได้ให้สัมภาษณ์ล่าสุดก่อนเสียชีวิต โดยคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “สองรัฐ” นี้)
ในบทความเรื่อง “A two-state solutionis the only way that the Israel-Palestine conflict can be solved” ตีพิมพ์ในสื่อเดอะการ์เดียนออนไลน์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2023 เพนนี หว่อง รมต.ต่างประเทศออสเตรเลีย เขียนสนับสนุนแนวคิด “สองรัฐ” ว่า เป็นหนทางเดียวในการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และถามทิ้งท้ายว่า ถ้าหากไม่ใช่แนวทางนี้แล้วจะมีทางเลือกอื่น (ที่ดีกว่านี้) หรือไม่? ผู้เขียนใคร่เสนอแนวทางเลือกเพิ่มเติมให้ประชาคมโลกได้พิจารณาอีกแนวทางหนึ่ง อาจเรียก
ว่าแนวทาง “สามรัฐบวกหนึ่งคลอง” มีสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้
นอกเหนือจากรัฐอิสราเอล (สำหรับชนชาติยิว) ซึ่งสถาปนามาตั้งแต่ปี 1948 และครบ 75 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว การสถาปนารัฐปาเลสไตน์ (สำหรับชาวอาหรับปาเลสไตน์)ถือเป็นภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับสันติภาพในอนาคตที่ยั่งยืน เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธหรือมองข้ามได้อีกต่อไป เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการสถาปนาและรับรองฐานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ตราบนั้น สงครามและความขัดแย้งก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นมิจบสิ้น
แต่ปัญหาสำคัญหนึ่งก็คืออุปสรรคทางกายภาพ เนื่องจากปาเลสไตน์ถูกแยกออกเป็นสองส่วน(อย่างถาวร?) นั่นคือ เขตเวสต์แบงก์ (ตั้งอยู่ทางตอนเหนือติดกับจอร์แดนและเลบานอน) และ เขตกาซา (ทางตอนใต้ติดกับอียิปต์) ส่วนที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตรดังนั้น เมื่อสองเขตนี้ไม่ได้เป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน จึงอาจจะเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับรัฐบาลปาเลสไตน์ในการบริหารปกครอง ตราบใดที่อิสราเอลไม่อนุญาตให้มีการเชื่อมต่อสองส่วนนี้ และให้ชาวปาเลสไตน์สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกันได้อย่างเสรี (หรือจนกว่าอิสราเอลจะอนุญาตให้สร้างรถไฟใต้ดินเชื่อมต่อสองแผ่นดินนี้ ที่อาจเป็นจริงได้ในอนาคตอันไกลห่าง?)กรณีของปากีสถานตะวันตกและปากีสถาน
ตะวันออกในอดีต ที่แยกออกมาจากอินเดียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยุ่งยากอย่างสุดๆ กับการที่มีอินเดียคั่นกลางและไม่อนุญาตให้ปากีสถานทั้งสองส่วน (ที่อยู่ห่างกันกว่าสองพันกิโลเมตร)
ติดต่อเชื่อมโยงกัน (ผ่านอินเดีย)จนในที่สุด เมื่อไม่สามารถเป็นประเทศเดียวกันได้ (ทั้งๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็น
มุสลิมเหมือนกัน) ปากีสถานตะวันออกจึงแยกตัวเป็นอิสระและตั้งเป็นประเทศบังกลาเทศส่วนปากีสถานตะวันตกกลายเป็นปากีสถานมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นความจำเป็นในการแยกและตั้งเป็นสองประเทศ (เฟสแรก) นั่นคือปาเลสไตน์เหนือและปาเลสไตน์ใต้ (โดยมีเป้าหมายในระยะยาวหรือเฟสสองคือการรวมกันเป็นประเทศเดียว) ทั้งนี้ ถึงแม้จะแยกเป็นสองประเทศ ด้วยเหตุผลความจำเป็นหรือข้อจำกัดทางกายภาพ แต่ในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เช่นในโลกกีฬาทั้งกีฬาโอลิมปิก ฟุตบอลโลก และเอเชี่ยนเกมส์ ปาเลสไตน์เหนือและปาเลสไตน์ใต้จะรวมกันเป็นหนึ่งทีมเท่านั้นนั่นคือ ทีมปาเลสไตน์เขตเวสต์แบงก์คือรัฐปาเลสไตน์เหนือ
สำหรับรัฐปาเลสไตน์ใต้นั้น อาจจะต้องมีการเจรจาปรับเปลี่ยนพรมแดนใหม่และแลกเปลี่ยน (swap)ดินแดนระหว่างกาซากับอิสราเอล แล้วสถาปนาเป็นประเทศปาเลสไตน์ใต้ ที่มีพื้นที่แคบ (กว้างประมาณ 5 กิโลเมตร) และยาวเหยียดร่วมสองร้อยกิโลเมตร (มีลักษณะเหมือนแผนที่ประเทศชิลี) โดยลากเส้นผ่านกลางกาซาลงมาขนาน
กับคาบสมุทรไซนาย ซึ่งเป็นพรมแดนของอียิปต์ไปจนสุดอ่าวอะคาบา ทางตอนใต้แล้วออกสู่ทะเลแดง (สีแดงในแผนที่ประกอบ)ในขั้นตอนต่อไปคือการขุดคลอง อาจเรียกว่าคลอง“อับราฮัม”(หรือชื่ออื่นๆ ตามความเหมาะสม) ขนานไปกับพรมแดนใหม่ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ใต้ มีความยาวประมาณ250 กิโลเมตร กว้าง 200-300 เมตร เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดเชิงพาณิชย์เส้นทางที่สองต่อจากคลองสุเอซ (เมื่อเปิดใช้ ทั้งสองคลองจะใช้ระบบวันเวย์ ทำให้การเดินเรือและขนส่งเร็วยิ่งขึ้น โดยเปิดทางให้อียิปต์มีบทบาทสำคัญในฐานะที่มีประสบการณ์การบริหารคลองสุเอซมานาน)
สำหรับอิสราเอล คลอง “อับราฮัม” จะกลายเป็นทั้งพรมแดนและกันชนธรรมชาติ (bufferzone) ที่สามารถป้องกันภัยการถูกโจมตีอย่างถาวร (หรือมากกว่าแนวใดๆ) ตอบโจทย์ของอิสราเอลในเรื่องความมั่นคงและป้องกันไม่ให้กลุ่มฮามาสหรือกลุ่มใดๆ บุกโจมตีอิสราเอลอย่างง่ายดายเหมือนเช่นเหตุการณ์เมื่อ “7 ตุลาฯ” ได้อีก เรียกว่า อย่างน้อยที่สุด ตอบโจทย์ของ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ที่ถามหาล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ ถึงทางเลือกใหม่ๆ ทางเลือกอื่นๆ ที่แตกต่างจากที่เคยมีมา
ในเชิงพาณิชย์ การขุดคลองเป็นโครงการในฝันของอิสราเอลมานานหลายทศวรรษ และจะเป็นแหล่งผลิตน้ำจืดขนาดใหญ่สำหรับอิสราเอล ซึ่งมีเทคโนโลยีในการเปลี่ยนน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยให้เป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภค
สำหรับปาเลสไตน์ (ใต้) คลอง “อับราฮัม” จะเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวปาเลสไตน์นับแสนอย่างยั่งยืน (นับตั้งแต่วันเริ่มก่อสร้างไปจนถึงวันเดินเรือ) และจะเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศทำให้ปาเลสไตน์สามารถยืนได้บนลำแข้งของตัวเอง และคงเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ปาเลสไตน์คิดจะทุบหม้อข้าวของตัวเอง?
ทั้งนี้ ในเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ คลอง “อับราฮัม” ถือเป็นทางเลือกที่จำเป็น หลังจากเกิดอุบัติเหตุเรือใหญ่จอดขวางคลองสุเอซเมื่อเดือนมีนาคม 2021 จนทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างเอเชียกับยุโรปเป็นอัมพาตร่วมสัปดาห์
ในทางประวัติศาสตร์เมื่อ 60 ปีที่แล้ว สหรัฐเคยมีโครงการขุดคลองเชื่อมสองทะเลผ่านอิสราเอลโดยใช้ระเบิดนิวเคลียร์กว่า 500 ลูกในการระเบิดเปิดทาง รวมทั้งโครงการขุดคลองผ่านจอร์แดนและอิสราเอล ดังนั้น เชื่อว่าสหรัฐ (และยุโรป) จะสนับสนุนโครงการขุดคลองนี้อย่างแน่นอนในทางวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าจีนยุคปัจจุบัน มีศักยภาพ ประสบการณ์ เทคโนโลยี เครื่องจักรกลรวมทั้งเงินทุนในการขุดคลองความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร ผ่านทะเลทรายเนเกฟที่เต็มไปด้วยหิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์
ดังนั้น โครงการคลอง “อับราฮัม” จึงเป็น การนำความฝันเดิมมาปัดฝุ่นและปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการตั้งประเทศปาเลสไตน์ใต้ ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอิสราเอลและปาเลสไตน์ในเชิงสัญลักษณ์ การขุดคลอง “อับราฮัม”จะช่วยเพิ่มความหมายและเป้าหมายใหม่ของคำว่า
“From the River to the Sea” ที่ชาวปาเลสไตน์หมายถึงดินแดนปาเลสไตน์ในฝันที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดจากแม่น้ำจอร์แดนไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ให้กลายเป็น “From the Riverand the Canal to the Sea” ที่คลองจะสร้างความมั่งคั่งและอนาคตที่สดใสมากขึ้นให้กับชาวปาเลสไตน์?
ขณะเดียวกัน ด้วยศักยภาพของความเป็น “พี่ใหญ่” แห่งโลกอาหรับ เชื่อว่า ซาอุดีอาระเบีย
จะมีศักยภาพและบทบาทสำคัญในความสำเร็จของโครงการคลองอับราฮัมและการสร้างสันติภาพ
ในภูมิภาคนี้
หนึ่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายหลักที่พัฒนาประเทศด้านตะวันตกทางฝั่งทะเลแดงมากขึ้นและลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ดังนั้น คลอง “อับราฮัม”จะตอบโจทย์อนาคตของซาอุดีอาระเบียในยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าซาอุดีอาระเบียและประเทศพันธมิตรอาหรับอื่นๆ มีความพร้อมทั้งศักยภาพ เงินทุนและผลประโยชน์ร่วมกันที่จะร่วมลงขันและลงทุนในโครงการขุดคลอง “อับราฮัม” และพัฒนาจุดเชื่อมต่อห้าประเทศบริเวณอ่าว
อะคาบา ได้แก่ อียิปต์ อิสราเอล จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย (และปาเลสไตน์ใต้) ให้กลายเป็น“ห้าเหลี่ยมทองคำ” (Golden Pentagon) ที่จะพลิกโฉมภูมิภาคนี้
สอง ในฐานะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034 (ที่รอการยืนยันอย่างเป็นทางการจากฟีฟ่า)ซาอุดีอาระเบียสามารถใช้มหกรรมกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกและในภูมิภาคตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างสันติภาพในระยะยาว โดยอาจจะพิจารณาแบ่งการแข่งขันรอบแรกของกลุ่มใดกลุ่มสายหนึ่ง (จากทั้งหมด 12 กลุ่ม 48 ทีม) ให้แก่สามประเทศได้เป็นเจ้าภาพร่วม ได้แก่ปาเลสไตน์ (เหนือหรือใต้) อิสราเอล และอียิปต์ (หรือจอร์แดน)
ด้วยความหวังว่า ก่อนจะถึงวันนั้น ปาเลสไตน์ (ทั้งสองรัฐ?) จะมีฐานะเป็นรัฐที่ปกติและสมบูรณ์เหมือนเช่นประเทศอื่นๆ เป็น “ของขวัญ” อันล้ำค่าที่ซาอุดีอาระเบียจะมอบให้แก่ชาวปาเลสไตน์(และอิสราเอล?) เหมือนที่โลกเคยมอบให้แอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้โลกปี 1995 (และฟุตบอลโลกปี 2010) หลังยกเลิกนโยบายเหยียดผิวที่โลกรังเกียจสร้างความฝันและความหวังอันยิ่งใหญ่ให้แก่ปาเลสไตน์และอิสราเอลที่จะต้องเริ่มคิดใหม่
ทำใหม่เพื่ออนาคตที่สดใส(?)