พึ่งจุฬาฯไม่สำเร็จ ต้องพึ่งศาล! มุสลิมแพร่ฟ้องศาล แพ่งและอาญาอิหม่ามมัสยิดเด่นชัย

มุสลิมเมืองแพร่ “พึ่งบารมี” ศาลฟ้อง อาญา-แพ่ง อิหม่ามเด่นชัยพร้อมพวกฯ เหตุนำโซ่ล๊อคประตูทางเข้ามัสยิด ไม่อนุญาตให้ใช้ละหมาด
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลจังหวัดแพร่ นายอนิรุทธิ์ สมุทรโคจร เป็นตัวแทนมุสลิมจังหวัดแพร่และมุสลิมแพร่จำนวนหนึ่ง เดินทางไปยื่นคำฟ้องต่อศาลขอความคุ้มครองให้เปิดประตูมัสยิดและเอาผิดกับอิหม่ามมัสยิดเด่นชัย

นายอนิรุทธิ์ เป็นทายาทของนายอมร อุดม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีการวากั๊ฟให้ใช้ในกิจการศานาอิสลามของคนจังหวัดแพร่ที่เสียชีวิตไปประมาณ 60 ปี

ที่ดินของมัสยิดจังหวัดแพร่ มีเนื้อที่ 4 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแพร่ โดยคนมุสลิมจ.แพร่ได้บริจาคเพื่อกิจการศาสนาอิสลาม ได้มีการแบ่งส่วนหนึ่งเป็นกุโบร์ฝังศพ และส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ละหมาด ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาหลายปี ต่อมาได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นของมัสยิดเด่นชัย จนเมื่ออิหม่ามมัสยิดเด่นชัยคนเก่าเสียชีวิต โดยมีนายอับดุลฮาลีม อุดม เป็นอิหม่ามคนใหม่ อิหม่ามคนใหม่ได้ใช้โซ่ปิดล็อคประตูทางเข้าที่ดิน ห้ามใช้ละหมาด โดยอ้างว่า ที่ดินได้มีการบริจาคเพื่อเป็นกุโบร์ฝังศพเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นมัสยิดได้ แม้จะมีการก่อสร้างมัสยิดอยู่ภายในแล้วก็ตาม
มัสยิดเด่นชัย อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ 20 กว่ากิโลเมตร มุสลิมจังหวัดแพร่ต้องเดินทางไกลละหมาด จึงเรียกร้องขอละหมาดในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตจากอิหม่ามมัสยิดเด่นชัย จึงได้ร้องเรียนมายังสำนักจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้มีการประชุมร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย มีนายสมัย เจริญช่าง ประธานกอจ.กรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายจากจุฬาราชมนตรีให้เป็นเจรจาไกล่เกลี่ยได้ข้อสรุปว่า สามารถใช้ที่ดินเป็นสถานที่ละหมาดได้
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการเรียกร้องและเจรจา จุฬาราชมนตรี ยังไม่ได้ทำหนังสือฟัตวา ไปยังผู้เกี่ยวข้องในจ.แพร่ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันมาตลอด เพราะแม้จะมีการเจรจาตกลงกันแล้ว แต่อิหม่ามผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก็ยังไม่ยินยอมให้มีการใช้พื้นที่เพื่อการละหมาด อ้างรอหนังสือจากสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งการดำเนินการของสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นไปด้วยความล่าช้า ส่งผลให้เกิดคามขัดแย้งขยายเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ไปร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดแพร่ แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงต้องอาศัยอำนาจศาล ทางศาลจังหวัดแพร่ ได้ประทับรับฟ้องและได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในเวลา 14.00 น.วันที่ 20 มกราคม 2568 นี้ โดยจะเชิญทั้งสองฝ่ายคือ ผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาขึ้นศาล
สำหรับมุสลิมจังหวัดแพร่ มีประมาณ 10 ครัวเรือน แต่ได้มีพี่น้องมุสลิมไปประกอบอาชีพทำสวนยาง-ตัดยางในพื้นที่ใกล้เคียง หลายสิบครอบครัว