ไทย-ญี่ปุ่นจับมือเดินหน้าหุ้นส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ

75

ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม High Level Joint Commission (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ครั้งที่ 3 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจต่างๆ ประกอบด้วย

กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมหารือกับนายโยะชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น  พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหรรม (เมติ) รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายฮิโระโตะ อิสุมิ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอาเบะ เป็นต้น เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ณ กรุงโตเกียว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การหารือภายใต้ HLJC เต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันหลายเรื่อง โดยในส่วน       ที่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่

  1. ภาพรวม สองฝ่ายเห็นว่า กลไกการหารือระดับสูง HLJC ส่งผลให้เกิดการดำเนินการ ที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง และการพัฒนาบุคลากรของไทยและ CLMV เป็นต้น ญี่ปุ่นได้ติดตามนโยบายรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดและยินดีให้การสนับสนุนไทยในยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาประเทศสู่ Knowledge based economy ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและความหลากหลายของอุตสาหกรรมพื้นฐานในประเทศไทย ส่งผลให้มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 4,500 บริษัท ประกอบธุรกิจอยู่ในไทย และมีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในไทยมากกว่า 70,000 คน
  2. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) จะนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และการขนส่ง ด้วยเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ญี่ปุ่นให้ความสนใจและ จะสนับสนุนไทยในการพัฒนา EEC ญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC และยกระดับภาคการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของไทยใน EEC ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของภาคเอกชนญี่ปุ่น ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น โดยญี่ปุ่น  จะใช้โมเดลการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรม (Connected Industry Model) โดยจะเริ่มจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลรายอุตสาหกรรม (ทักษะ มาตรฐาน และข้อมูลพื้นฐานต่างๆ) และการพัฒนาบุคลากรผ่านระบบดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของไทย ยกระดับภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของไทยให้สามารถ  รวมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก ในการนี้ BOI ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกับเจโทรอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดงานสัมมนาใหญ่ประชาสัมพันธ์โอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ศกนี้
  3. ความร่วมมือด้านระบบราง ไทยและญี่ปุ่นยืนยันตกลงที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ด้วยระบบรถไฟชิงคันเซน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตลอดเส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมเวียดนาม-ลาว-ไทย-เมียนมา-อินเดีย เชื่อมโยงการค้า การลงทุน เส้นทางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนเข้ากับภูมิภาคเอเชียใต้/ BIMESTEC นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจในเส้นทางกรุงเทพฯ- ระยอง ซึ่งจะเชื่อมโยงสนามบินพาณิชย์ 3 แห่งและเชื่อมโยงต่อไปยัง EEC อีกทางหนึ่ง
  4. CLMVT Master Plan ไทยในฐานะประธาน ACMEC (มิถุนายน 60 – มิถุนายน 61) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท ACMECS Master Plan เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของ CLMVT ในระยะกลาง-ยาว ให้มีการเติบโตไปด้วยกัน ยกระดับห่วงโซ่อุปทานและพัฒนาเป็นตลาดเดียวกัน โดยเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง (กายภาพและดิจิทัล) การตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ CLMVT และยินดีเข้ามาร่วมทำแผนฯ ดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา (Joint Development Strategy) ร่วมกับประเทศลุ่มน้ำโขงแบบทวิภาคี ซึ่งไทยกำลังเริ่มทำกับลาว และจะทำกับประเทศสมาชิก ACMECS ทุกประเทศ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเห็นว่า ควรใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละประเทศ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยและญี่ปุ่นต่างสนใจที่จะร่วมกันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ CLMVT ในสาขา เช่น Smart Devices (Internet of Things, electronics, mechatronics) / Smart Famers (Agro Business and Food Industry) / Smart SMEs (เช่น สินค้าพื้นบ้าน/ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และ e-Commerce)  ในการนี้ ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มแม้น้ำโขง โดยไทยจะเร่งจัดประชุมหารือในระดับผู้นำขับเคลื่อน Master Plan ต่อไป ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกับกับกระทรวงการต่างประเทศในการยกร่าง CLMVT Master Plan
  5. การทบทวนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทปปา ญี่ปุ่นและไทยได้ตกลงที่จะเดินหน้าทบทวนความตกลงเจเทปปา พร้อมหารือประเด็นคงค้างต่างๆ (สินค้า บริการ การลงทุน กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และความร่วมมือด้านต่างๆ เป็นต้น) เพื่อปรับปรุงความตกลงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจากับญี่ปุ่นต่อไป
  6. ปีแห่งการครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น (ปี 2560) รัฐบาลญี่ปุ่นยินดีจะสนับสนุนให้คณะนักธุรกิจญี่ปุ่น (ทั้ง Keidanren และ SMEs) เยือนไทยในช่วงครึ่งปีหลังของ 2560 เพื่อร่วมและศึกษาดูงานการพัฒนา EEC รวมทั้งหารือและมีกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนของไทย ในการนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางไปเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดียวกันด้วย

ในปี 2559 ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 และคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 70,510.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 51,241 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.11 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

– See more at: http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/4468#sthash.CQlJnAgp.dpuf