สุรินทร์เตือนชาวบ้านริมแม้น้ำมูลขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ลงพื้นที่สำรวจสภาพความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี พร้อมเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงริมฝั่งแม่น้ำมูลเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง กำชับให้อำเภอและท้องถิ่นเตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 1 สิงหาคม 2560 นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายพรเชษฐ์ แสงทอง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ นายสุรพล บุตรวงศ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี เพื่อสำรวจความเสียหายและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ ที่บ้านตลิ่งชัน หมู่ 7 ตำบลสระขุด บ้านซาด หมู่ 3 บ้านยางบ่ออี หมู่ 10 บ้านยางบ่อเทศ หมู่ 15 ตำบลเมืองบัว บ้านทิพยเนตร ตำบลกระเบื้อง และบ้านโนนโจด หมู่ 4 ตำบลศรีณรงค์ ซึ่งพบว่าหมู่บ้านและตำบลทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล และขณะนี้น้ำได้เอ่อไหลเข้าท่วมนาข้าวบางส่วนแล้ว และเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมหนักในรอบที่สอง จากมวลน้ำที่กำลังเคลื่อนตัวลงมาจากจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดมหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งกำลังไหลบ่าลงมารวมกับแม่น้ำมูล ซึ่งมีระดับเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมไร่นาและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในอำเภอชุมพลบุรี เสียหายแล้วประมาณ 15,000 ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์จึงได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วมระลอกสอง
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน รวม 11 อำเภอ 46 ตำบล 370 หมู่บ้าน 4,603 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 23,421 ไร่ พืชไร่เสียหาย 20 ไร่ ถนนเสียหาย 19 แห่ง ได้แก่ อำเภอสำโรงทาบ บัวเชด ศีขรภูมิ สังขะ ศรีณรงค์ โนนนารายณ์ สำโรงทาบ ชุมพลบุรี จอมพระ บัวเชด และอำเภอเมือง ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แล้ว และบางอำเภออยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดสุรินทร์ 18 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำวัดได้ 145.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98.06 ของความจุทั้งหมด 148.52 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 2.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 1.94 ของความจุอ่างทั้งหมด
นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวภายหลังจากตรวจพื้นที่แล้วว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าน้ำจะท่วมมากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่ามวลน้ำมหาศาลจะมาถึงภายใน 2-3 วันนี้ จึงได้กำชับให้ทางอำเภอ อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และจัดเตรียมเครื่องมือ-อุปกรณ์ เช่น เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลที่จำเป็น ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันที รวมทั้งวางแผนจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพกรณีเกิดขั้นวิกฤติ พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัยและลดการสูญเสีย สำหรับไร่นาหรือพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วนั้น ทางราชการจะพิจารณาให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูในภายหลังน้ำลดต่อไป
คณิศร ศรีสุข/ภาพ
สุรพล บุตรวงศ์ ปชส.สุรินทร์/ข่าว