คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานีมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบแก่ผู้ประกอบการต่อยอดสู่ธุรกิจ

220

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บูรณาการวิชาสู่กระบวนการพัฒนาสินค้าของชุมชนปัตตานี ทั้งคุณภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์ และสื่อเผยแพร่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณภาพสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ

เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559  ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล  คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ได้เป็นประธานในพิธีมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบสู่ผู้ประกอบการชุมชน จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ
1 วิทยาเขต 1 ชุมชนเข้มแข็ง ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ซึ่งผลิตภัณฑ์และชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาการสื่อสาร ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เกลือหวานบานา กลุ่มทำนาเกลือ หมู่ 2 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผลิตภัณฑ์บานาน่าฟินเฟ่อร์ กลุ่มสตรีกล้วยหินกรอบแก้ว หมู่ 2 ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และผลิตภัณฑ์มะขามทอง กลุ่มเมี่ยงคำสมุนไพร หมู่ 1 ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่ากิจกรรมส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบแก่ผู้ประกอบการ ในวันนี้เกิดขึ้นเนื่องจากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยากรสื่อสาร
ที่เรียนรายวิชาการฝึกปฏิบัติการสื่อสารการตลาดได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้สอนให้นักศึกษาเลือกผลิตภัณฑ์
ในชุมชนที่ยังต้องได้รับการพัฒนาทั้งคุณภาพ ราคา และบรรจุภัณฑ์  แล้วนำมาพัฒนากระบวนการผลิต
ให้มีคุณภาพ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการผลิตสื่อเผยแพร่ และการหาช่องทางการตลาด
ให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยการจัดกิจกรรมเปิดตัวผลิตภัณฑ์  ซึ่งนับเป็นการบริการวิชาการชุมชนและบูรณาการ
การเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

จากการเสวนาหัวข้อ “วิทยาการสื่อสารสู่ชุมชน : ความสัมพันธ์ การเรียนรู้ และบทเรียนจากชุมชน”
โดยผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุนนา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา อาจารย์สุวนาถ ทองสองยอด
อาจารย์ที่ปรึกษาการฝึกปฏิบัติการสื่อสารการตลาด นายอาหามะ แวหลง กลุ่มเกลือหวานบานา
นางสาวเฟาซีย๊ะห์ เดงโด  กลุ่มสตรีกล้วยหินกรอบแก้ว นางสาวซัยดาร์ หวาเอียด นักศึกษา นักศึกษาชั้นปีที่ 4
ที่เรียนวิชาการฝึกปฏิบัติการสื่อสารการตลาด โดยมีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น เป็นพิธีการ

ทราบว่า กิจกรรมของนักศึกษาที่ลงพื้นที่เพื่อพัฒนากลุ่มเกลือหวานบานา ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม 20 คน อยู่ที่หมู่ 2 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กิจกรรมของนักศึกษาประกอบด้วยการสำรวจข้อมูลกลุ่ม จัดทำฐานข้อมูลสมาชิก จัดตั้งคณะกรรมการกลุ่ม การให้ทุนสนับสนุนก่อสร้างโรงเรือนเก็บเกลือในวงเงิน 50,000 บาท จัดทำแผนโครงการ สำรวจตลาดเกลือ ระดมความคิดเห็นชื่อและสัญลักษณ์สินค้า ตลอดจนพัฒนาศักยภาพกลุ่มทำนาเกลือ
และส่งมอบผลิตภัณฑ์เกลือหวานต้นแบบพร้อมบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ผลจาการทดสอบคุณภาพเกลือ โดยศูนย์เครื่องมือกลาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่าคุณภาพของเกลือที่ผลิตจากกลุ่มเกลือหวานบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อเทียบกับเกลือจากแหล่งผลิตเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความชื้น สารที่ไม่ละลายน้ำ ปริมาณโซเดียมคลอไรด์ ปริมาณสารโลหะ ล้วนอยู่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์เกลือบริโภค แต่เกลือของกลุ่มเกลือหวานปัตตานีมีข้อดีกว่าที่มีปริมาณไอโอดีนธรรมชาติสูงกว่า2-3 เท่า

ผลิตภัณฑ์บานาน่าฟินเฟ่อร์ กลุ่มสตรีกล้วยหินกรอบแก้ว หมู่ 2 ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีนางสาวเฟาซีย๊ะห์  เดงโด  เป็นประธานกลุ่มสตรีกล้วยหินกรอบแก้วมุคลิซ เดิมผลิตกล้วยหินกรอบแก้ว 4 รสคือ รสหวาน รสเค็ม รสปาปริก้า และรสสาหร่าย ต่อมาเมื่อนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ กลุ่มวิชาการสื่อสารการตลาดได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนารสชาติของกล้วยหินกรอบแก้วโดยเพิ่มรสช็อคโกแล็ต
และตั้งชื่อให้ตรงใจผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น ภายใต้ชื่อ”BANANA ฟินเฟ่อร์”พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสัญลักษณ์สินค้า หรือแบรนด์ใหม่ ทำให้มียอดจำหน่ายสูงขึ้น และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากกว่าเดิมกว่า 3 เท่า

ส่วนผลิตภัณฑ์มะขามทอง ของกลุ่มเมี่ยงคำสมุนไพร หมู่ 1 ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
เดิมกลุ่มนี้ผลิตเมี่ยงคำสมุนไพร แต่หลังจากกลุ่มนักศึกษาวิชาการสื่อสารการตลาดได้เข้ามาเรียนรู้จึงเกิดการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการผลิตมะขามทอง ด้วยการพัฒนาให้มะขามกวนมีรสชาติที่อร่อย และไม่เหลว
แม้อากาศจะร้อน พร้อมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ภายใต้สโลแกน “ทรงเครื่องทุกเม็ด อร่อยทุกคำ”
ซึ่งจากการจัดกิจกรรมเปิดตัว ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  สาขาปัตตานี ได้รับผลตอบรับที่ดีมากเกินความคาดหวัง
ต้องไปรับสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มอีก 3 รอบ

“ทางชุมชนให้ความร่วมมือและคำปรึกษาดีมาก อยากให้มีกระบวนการฝึกปฏิบัติเพื่อให้พวกหนูได้ก้าวไปข้างหน้า ได้เรียนรู้ทิศทางที่จะเดินไปเมื่อทำงานจริง”  และ “ถ้าไม่ทำงานเป็นทีม ก็ก้าวผ่านอุปสรรคได้ยาก” นางสาวซัยดาร์ หวาเอียด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้เรียนวิชาการฝึกปฏิบัติการสื่อสารการตลาด กล่าว-Mtoday