นิพนธ์ บุญญามณี เพิ่มประตูรับอาเซียน ปั้นสงขลาเมืองศูนย์กลาง

43

นิพนธ์ บุญญามณี เพิ่มประตูรับอาเซียน ปั้นสงขลาเมืองศูนย์กลาง


“นิพนธ์ บุญญามณี” เข้ามาบริหาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสงขลา เป็น “เมืองแห่งความสุข” เมืองที่เป็นศูนย์กลางในหลายด้าน และเชื่อมสู่อาเซียนด้วยความสะดวกสบาย

นิพนธ์ บุญญามณี เข้ามาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาแล้ว 1 ปี 6 เดือน การทำงานได้เดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีความชัดเจนในการเข้าใกล้เป้าหมาย

“1 ปี 6 เดือนที่ทำงานมีความชัดเจนที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กล่าวมา ได้แปลงเป็นแผนงานหลายอย่าง มีเป้าหมาย เป็นเมืองที่ประชาชนมีความสุข การจะพัฒนาไปสู่เป้าหมายว่า พัฒนาแล้วประชาชนมีความสุข พัฒนาแล้วประชาชน มีความทุกข์ มีความกังวล ห่วงใย ก็ไม่ใช่การพัฒนาตามแนวทางที่ต้องการ เมื่อเราพัฒนาให้สงขลาเป็นศูนย์กลางต่างๆ แล้ว บ้านเมืองพัฒนาแล้ว สังคมต้องมีความสุข เป็นสิ่งที่เดินไปสู่การเป้าหมายที่วางไว้ ให้สังคมเป็นสุข” นายก อบจ. สงขลา กล่าว

นิพนธ์กล่าวว่า การเดินไปสู่เป้าหมาย สังคมเป็นสุข อบจ. จึงให้ความสนใจไปทำเรื่องคุณภาพชีวิตมากขึ้น อย่างการจัดตั้งศูนย์บริบาล อบจ. ได้จัดงบประมาณลงไปดำเนินการพอสมควร เป็น อบจ.แรกของอาเซียนที่ทำเรื่องนี้ โดยศูนย์บริบาล จะมาดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ มีความจำเป็นที่จะต้องทำ โดยได้วางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างศูนย์ไปแล้ว โดยมี ฯพณฯ ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์

สิ่งที่จะช่วยคนในท้องถิ่นในเวลาเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 รถกู้ชีพ ให้ตำบลต่างๆ สามารถนำผู้ป่วยภายในระยะเวลาไม่นาน เพราะโรคบางโรค หากนำผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลทันเวลา สามารถรักษาได้ทัน ก็จะไม่เสียชีวิต หรือพิการ ที่ทำเพราะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีโครงการให้ อสม.มาต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญ  นำมาอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยในรถกู้ชีพ และมีเงินตอบแทนให้ จากเดิมที่ได้รับเงินเดือน 600 บาท ก็เพิ่มให้อีก 600 บาท เป็น 1,200 บาท ต่อไปพัฒนาไปอยู่บนรถกู้ภัย เป็นพี่เลี้ยงในรถพยาบาลช่วยเหลือประชาชนเวลาฉุกเฉิน ซึ่งรถกู้ชีพได้ดำเนินการจัดซื้อไปแล้ว 117 อบต. ขาดอีกไม่เกิน 20 แห่ง ซึ่งในปี 2559 จะดำเนินการครบทั้งหมด
นิพนธ์ กล่าวว่า อบจ.ยังมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยมีโครงการนำยางพารามาสร้างถนน เป็นอบจ.แรกที่ดำเนินการเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรจากเดิมที่ถนนสร้างด้วยยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ก็นำยางพารามาผสม ทำให้มีคุณภาพดีขึ้น ยืดอายุการใช้งาน และจะช่วยยกระดับราคายางพารา“ในแต่ละปีมีการสร้างถนนประมาณ 10,000 กิโลเมตร หากเป็นถนนหนา 3 ซ.ม. จะใช้ยาง พารา 3-4 ตันต่อกิโลเมตร แต่หากถนนหนา 10 ซ.ม. ก็จะใช้ยาง 8 ตัน/กิโลกรัม ซึ่งในแต่ละปี เราจะใช้ยางพาราเกือบ 100,000 ตัน สามารถระบายยางพาราที่ผลิตได้ปีละ 300,000 ตัน ได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังพัฒนาไปใช้ทำลู่ยางสนามกีฬา เพื่อให้ได้ใช้ยาง พารามากขึ้น” นายกอบจ.สงขลา กล่าวถึงการพัฒนายางพารามาใช้ประโยชน์ และว่า ตามนโยบายสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่จะสร้างในจังหวีดสงขลา อบจ. จะมีส่วนในการวางผังเมือง การดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็มีส่วนร่วมในระดับหนึ่ง สามารถรองรับเมืองยางพาราได้

นายก อบจ. สงขลา กล่าวอีกว่า การสร้างความสุขอย่างหนึ่งคือการให้ประชาชนได้เล่นกีฬา เพื่อให้ร่างการแข็งแรงและลดปัญหายาเสพติด การเล่นกีฬาต้องทำให้มากกว่าการออกกำลังกาย แต่เป็นการป้องกันโรคด้วย และเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรด้วย วันนี้ได้ใช้การกีฬาเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน คือ การจัดการแข่งขันสงขลาลีก ให้ทีมฟุตบอลแต่ละอำเภอมีส่วนร่วมมาเล่นกีฬาไม่หันไปหายาเสพติดไม่สนใจอบายมุข ยาเสพติด เมื่อเขาเล่นกีฬา เขาเหนื่อยแล้ว ก็ต้องการพักผ่อนในยามค่ำคืน ไม่ต้องออกไปมั่วสุม และกีฬาวันนี้เป็นอาชีพ นักฟุตบอลขณะนี้มีเงินเดือน 200,000 – 300,000 มากกว่านายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอีก แต่ต้องฝึกฝนให้เก่งจริง

“ในการจัดการแข่งขันสงขลาลีกมีตัวแทนจากทุกอำเภอ 16 ทีม จาก 16 อำเภอ ในแต่ละทีมจะแข่งขันกันแบบเหย้าเยือน แข่งขันกันตลอดทั้งปี โดยผู้ชนะจะมีรางวัล ไปพัฒนาท้องถิ่นจำนวน 10 ล้านบาท อย่างที่ อ.ระโนด ได้นำงบประมาณไปสร้างสนามกีฬา สนามฟุตบอล เป็นสนามลู่ยางทำสำเร็จในบางพื้นที่ ที่นาทวี ที่สะเดากำลังดำเนินการ เพื่อให้ลูกหลานมาเล่นกีฬาไม่เพียงฟุตบอล แต่กีฬาทุกชนิด เพื่อพัฒนาให้มีโอกาสติดทีมชาติในอนาคต” เขากล่าว

สำหรับการส่งเสริมอาชีพของชาวบ้าน นายก อบจ. สงขลา กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพชาวบ้านมีหลายหน่วยงานส่งเสริมอยู่แล้วสิ่งที่อบจ. ไปทำก็คือ การต่อยอด โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนาแพ็คเกจให้ทันสมัย เพราะสินค้าเดียวกันหากมีแพ็คเกจที่สวยงามก็จะมีมูลค่ามากกว่า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชาวบ้าน

“เป็นงานหนัก เพราะชาวบ้านจะเคยชินกับสิ่งที่เคยทำมาแต่เดิม จะต้องไปสร้างความเข้าใจพอสมควรทีเดียว” นายก.อบจ.สงขลา กล่าว

นอกจากนี้ สงขลายังเป็นจังหวัดที่มีขยะตกค้างมากที่สุด มีขยะตกค้าง 30 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 2.4 ล้านตัน จึงได้หารือกับสิ่งแวดล้อมจังหวัด สิ่งแวดล้อมภาค เพื่อขอการจัดสรรงบประมาณมาแก้ปัญหา หากได้งบประมาณมาก็จะลบเมืองสงขลาจากเมืองที่มีขยะตกค้างมากที่สุดออกไปได้

นายกฯ อบจ.สงขลา ยังกล่าวว่า อบจ.สงขลามีแผนส่งเสริมด้านการเงินของประชาชน โดยจะทำให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองสหกรณ์ระดับเอเชีย เพราะตอนนี้สงขลามีการออม ที่สุดในประเทศไทย รัฐบาล 2 รัฐบาลที่ผ่านมา มาศึกษาสหกรณ์ ศึกษาการออม

ของชาวบ้าน นำไปต้นแบบในการออกกฎหมาย อย่างกฎหมายบำนาญภาคประชาชน เป็นของดีที่สงขลามีอยู่ ซึ่งจะนำมาต่อยอดให้ความเกษตรกรรวมกลุ่ม แก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง การทำให้กลุ่มต่างๆ ได้ยกฐานะตัวเอง ยกระดับความรู้ นำเทคโนโลยีเข้ามา ยกฐานะเป็นสหกรณ์แห่งเอเชีย เป็นโมเดลที่สอนให้คนออม เพื่อการใช้จ่ายในวันข้างหน้า หลังอายุ 60 ปี ตอนนี้ มีอายุ 80-90 ปี จะต้องมีเงินใช้จ่าย ซึ่งเราคิดอย่างเป็นระบบ หากทำได้ก็จะช่วยด้านการเงินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความสุข เราก็มีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน

อีกด้านหนึ่งในทะเลสาบสงขลา ก็ได้ปล่อยพันธ์ปลาเพื่อสร้างรายได้ให้คนที่ทำการประมงในอนาคต โดยการปล่อยพันธุ์ปลา อบจ.จะไม่ ซื้อพันธุ์ปลา เพื่อลดข้อครหาว่า ได้จำนวนมากไม่ครบ แต่จะให้เงินสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาพันธุ์ปลา ทำเป็นบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานรัฐให้เพาะพันธุ์ปลาโดยอบจ.สนับสนุนงบประมาณ

นิพนธ์ กล่าวถึงการพัฒนาเพื่อเชื่อมกับอาเซียนว่า สงขลาเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการเชื่อมกับอาเซียนทางตอนใต้ ตอนนี้ด่านนอกแออัดมาก ถนนกาญจนวณิชย์ก็มีรถหนาแน่น จึงได้จัดสร้างถนนเลี่ยงเมือง 4 ช่องจราจรเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ลดความแออัดบนถนนกาญจนวณิชย์

“สงขลาเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นประตูสู่อาเซียนทางตอนใต้ เราต้องทำให้เป็นประตูเชื่อมที่สะดวกสบาย ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุนเข้ามา และเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า เพราะด่านในจังหวัดสงขลามีการส่งออกสินค้าปีละ 600,000 – 700,000 บาท มีด้านจำนวน 5 ด้าน คือ ด่านปาดังเบซาร์ ด่านนอก ด่านท่าเรือน้ำลึก ด่านประกอบ อ.นาทวี และด่านสนามบินหาดใหญ่ ก็จะปรับปรุงเพื่อลดความแออัด โดยการจัดสร้างช่องทางใหม่ในด่านสะเดาและปาดังปาเบซาร์และสร้าง ถนนให้สะดวกขึ้น คิดว่าจะเป็น การสร้างการเชื่อมโยงกับอาเซียนที่มีความสวยงามและสะดวกสบาย เป็นหน้าตาของประเทศ” นายนิพนธ์ กล่าว

“ขณะเดียวกัน ภายใน 4 ปี จะเปลี่ยนโฉมระบบการคมนาคมของจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีนโยบายนลดความแออัดด้านจราจรของ อ.หาดใหญ่ โดยการนำระบบโมโนเรล มาใช้ สงขลาจะเปลี่ยนระบบการขนส่ง ซึ่งได้หารือกับสนข.อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาระบบ ขนส่งมวลชน ใน 4 ปี จะเห็นเห็นการเปลี่ยน แปลงการคมนาคมของจังหวัดสงขลาอย่างเป็นระบบมากที่สุด” นายก อบจ.สงขลา กล่าวในที่สุด

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนเมษายน 2558