4 ศพ ทุ่งยาง (เลือด) แดง-แผลบาดลึก

ตลอด 11 ปี ของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์การยิงเด็กขณะวิ่งเล่นที่ยะลา เหตุการณ์สังหาร 7 ศพขณะเดินทางไปละหมาดญานาซะห์ที่ปัตตานี และยังอีกหลายเหตุการณ์ จนล่าสุดการบุกปิดล้อมบ้านที่กำลังก่อสร้างที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดง และสังหารผู้บริสุทธิ์ 4 คน เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่รู้ดีว่าลูกหลานไม่ใช่กลุ่มก่อความไม่สงบ จะเห็นว่า 1 วันหลังเหตุการณ์สังหารชาวบ้านได้รวมตัวกันขอความเป็นธรรม รวมทั้งมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่สูญเสียนักศึกษาจำนวน 2 คน ได้ออกมาเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะนักศึกษาทั้ง 2 คน ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับความมั่นคง จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการจนนำไปสู่บทสรุปว่าเจ้าหน้าที่สังหารผู้บริสุทธิ์
การสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้แบ่งประเด็นการสอบสวนเป็น 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่ 2.การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่ และ 3.การวิสามัญฆาตกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่
รายละเอียดในการสอบสวน นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี หนึ่งในคณะกรรมการ ระบุว่าช่วงก่อนเกิดเหตุได้มีคน 3 กลุ่ม ไปที่บ้านที่เกิดเหตุซึ่งกำลังก่อสร้าง ประกอบด้วย
2.กลุ่มที่เจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ และ
3.กลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเพื่อที่จะเสพยาเสพติด (น้ำกระท่อม) กระทั่งเวลา 17.00 น.ได้มีกองกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม รวม 22 คน ขณะที่อีก 5 คน ได้วิ่งหลบหนีไปด้านหลังของบ้านเกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสวนยางพารา ต่อมาได้เกิดการใช้อาวุธปืนฆ่ากันตาย มีผู้เสียชีวิต4 ราย คือ นายคอลิค สาแม็ง นายมะดารี แมเราะ นายซัดดัม วานุ และนายสูไฮมี เซ็นและ โดยตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิดตกอยู่ข้างศพทั้ง 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากระทำวิสามัญฆาตกรรมทั้ง 4 ศพ
“ประเด็นที่ว่าผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำผิดหรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานคำให้การยืนยันของผู้นำศาสนา ตลอดจนอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งด้านการข่าวไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน มีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมก่อความไม่สงบมาก่อน มีเพียงบางคนเคยถูกจับคดียาเสพติด และมีพยานบุคคลยืนยันว่า ขณะผู้ตายทั้ง 4 คนหลบหนีไม่ปรากฏว่าครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด นอกจากนี้ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตายก็ไม่พบว่ามีประวัติในการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นเชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ”
ประเด็นการริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ถูกต้องสมเหตุผลหรือไม่นั้น คณะกรรมการเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจาก 1.ผู้ปฏิบัติอ้างว่าปรากฏข้อมูลข่าวสารด้านข่าวกรองพบความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญในพื้นที่ คือ นายอันวาร์ ดือราแม นอกจากนี้เป็นผลจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า 3 ใน 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มนายอันวาร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผลจากการซักถามรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังให้เหตุผลว่าพื้นที่ทุ่งยางแดงเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายค้นในชั้นนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ
ส่วนอาวุธปืนเป็นของผู้ตายหรือไม่นั้นเนื่องจากการเสียชีวิตของทั้ง 4 คนเกิดห่างจากจุดเริ่มต้นเกิดเหตุ 300 เมตร มีเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ คณะกรรมการไม่สามารถหาพยานอื่นใดมาให้ข้อมูลส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตายและอาวุธปืนของกลางไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจน และยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น ในชั้นนี้คณะกรรมการจึงไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหน้าที่ของ
คณะกรรมการลงความเห็นว่าผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อประชาชน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ส่วนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 4 คน จึงเห็นสมควรเสนอเยียวยาตามระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555
ผลสรุปของการสอบสวนมีความชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่พยายาม “ยัดเยียด” ข้อกล่าวหาให้กับผู้เสียชีวิต โดยการนำปืนไปวางไว้ใกล้ศพ โชคดีว่าระดับผู้บังคับบัญชามีความเป็นธรรม กระบวนการที่จะทำให้คนบริสุทธิ์มีความผิดคงจะเดินหน้าต่อไป
ถัดไปอีกไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้น 4 จุด และจับกุมนักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และบุคคลอื่นไปจำนวน 22 คน โดยไม่แจ้งสถานที่และไม่แจ้งข้อกล่าวหา จนกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาดังกระหึ่มไปทุกภาคส่วน จน 3 วันผ่านไปกอ.รมน.ภาค 4 จึงออกมายอมรับว่ามีการดำเนินการตรวจค้น-จับกุมบุคคลจำนวน 22 คนจริง ระบุว่า เป็นกลุ่มบุคคต้องสงสัยว่าพัวพันกับเหตุการณ์ระเบิดที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นได้ทยอยปล่อยตัวออกมาเหลือผู้ต้องสงสัยเพียง 2-3 คน
การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยใช้กฎอัยการศึกนั้น ได้สร้างปัญหาให้กับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง เพราะเพียงสงสัยก็สามารถควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งสรุปสุดท้ายคนที่ถูกควบคุมตัวไม่มีความผิด แต่เสียหาย เสียชื่อเสียง และกระทบต่อความรู้สึกเกลียดชังเจ้าหน้าที่ เป็นความรู้สึกที่ส่งทอดจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งต่อเนื่อง ในระยะเวลา 11 ปี ได้สร้างรอยแผลในหัวใจของผู้คนจำนวนมาก ยากจะเยียวยาในเวลาอันรวดเร็ว และความผิดพลาดก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยระวัง ทำเหมือนคนจังหวัดชายแดนใต้เป็นพลเมืองชั้น 2 ที่จะกระทำย่ำยีอย่างไรก็ได้
การแสวงหาหลักฐานเพื่อจับกุมคนร้าย เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างสูง อย่างกรณีการระเบิดที่พารากอน แม้จะระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจมือดี ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเท่าที่มีอยู่มาแสวงหาหลักฐานจนหมดสิ้น ก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่สงสัยใครก็ดำเนินการจับกุมและมาสอบเค้นเพื่อให้รับสารภาพ จนเมื่อคดีเข้าสู่ศาลจากสถิติ 70% ศาลปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย
เหตุการณ์ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะแม้เปลี่ยนรัฐบาล แต่แนวทางการแก้ปัญหาของฝ่ายความมั่นคงก็ยังเหมือนเดิม จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “ค้าความรุนแรง” แสวงหาประโยชน์จากความรุนแรง จึงไม่ต้องการให้ปัญหาจบลงเสียที ผ่านมา 100 ปี ปัญหายิ่งรุนแรง และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปเชื่อได้เลยว่าอีก 100 ปี ภาคใต้ก็ไม่มีวันสงบ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี
ในเหตุการณ์นี้ผมมีลูก 2 คน คนอื่นก็เหมือนกัน คิดว่าเป็นลูกของพวกเรา เยาวชนของเราที่เราต้องรับผิดชอบในการนำเขาสู่ชีวิตที่ดี เพื่อให้พวกเขาสร้างความดีงามต่อประเทศชาติได้
ผมดีใจที่วันนี้แม้ว่าทุกอย่างจะไม่สิ้นสุดภายในวันนี้ แต่ได้รู้ว่าลูกๆ ของเราบริสุทธิ์… (ถึงจุดนี้น้ำเสียงของเขาก็ขาดห้วงไป น้ำตาเริ่มหลั่งรินออกมา) ขอบคุณคำขออภัยของแม่ทัพ เป็นคำที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผม… (น้ำเสียงขาดไปอีกช่วง) ขอให้พวกเราทำใจให้มากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (พร้อมน้ำตาไหลริน) พวกเราต้องเดินทางสู่ความสำเร็จอีกมากมายในการสร้างความปรองดอง ความสุข และความเจริญในพื้นที่แห่งนี้ โดยความตั้งใจของพวกเรา
วันนี้อาจจะยังไม่สิ้นสุด เพราะด้วยน้ำใจของผู้ใหญ่ของพวกเรา แม่ทัพ เลขาธิการ ศอ.บต. ทุกท่านได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันที่จะต่อสู้รูปแบบสันติวิธีต่อไป ต้องเข้าใจว่าสันติวิธีเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา เหมือนเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราต้องเข้าใจในส่วนนี้ เราจะใช้ความพยายามในการอดทนอดกลั้น ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศชาติของเราไปสู่สันติวิธีที่ถูกต้องและเต็มใบ ไม่เกิดความผิดพลาดต่อชีวิตของพวกเราต่อไป
ผมขอบคุณทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายมีความเมตตาและความเห็นใจ ให้ความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นคำสอนของศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ
ผมในฐานะประธานร่วมองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจ เราเจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ เราต้องพยายามใช้วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างสันติสุขหรือสันติภาพต่อไป

“แนวทางในการดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต่อผู้มีความเห็นต่างในวันนี้ขอยืนยันว่าเราใช้แนวทางสันติอย่างเดียว เราให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนให้มากที่สุดในการควบคุมตัวบุคคล ตามขั้นตอนมีผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาเข้าร่วม ที่เคยเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว 4 ครั้งก่อนหน้า”
ขอให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต ยึดหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนกันต่อไป