ต้านถนนเลียบเจ้าพระยา 14,000 ล้าน ชี้ทำลายศักยภาพประเทศ

44

เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำร่วมกับองค์กรภาคี จับมือรวมพลังต้าน “ถนน เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” มูลค่า 14,000 บาท ของกรุงเทพมหานคร ระบุไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่งผลกระทบตามมามากมาย ทำลายระบบนิเวศน์ ทำลายวิถีชีวิตเจ้าพระยา ทำลายการท่องเที่ยว แถมดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ ไม่รับฟังเสียงชาวบ้าน

สมัชชาแม่น้ำ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรภาคี 42 องค์กร อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำ กลุ่มกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิโลกสีเขียว สยามสมาคม มูลนิธิสุขภาพไทย เครือข่ายสภาลุ่มน้ำท่าจีน เครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง สภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย ประชาคมลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้ง เครือข่ายรักษ์พระยา เป็นการร่วมตัวของชาวชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา 66 ชุมชน เป็นต้น ได้จัดกิจกรรม “นับถอยหลังปักหลักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา” ด้วยการเชิญภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนมากกว่า 200 คน ล่องเรือชมทิวทัศน์ แม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมเสวนา เพื่อร่วมกันหาทางออกในการคัดค้านโครงการโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่ายโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ เป็นการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งละประมาณ 10 เมตร ระยะทาง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า มูลค่า 14,000 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการเมื่อเดือนธันวาคม 2557 และให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาโครงการ กำหนดแล้วเสร็จเดือนตุลาคม และเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมกราคม 2560

มีผู้ร่วมกิจกรรม อาทิ นาย ส.ศิวลักษณ์ นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ  นายขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง นายมาโนช พุฒตาล ศิลปินและนักเคลื่อนไหนทางสังคม ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ เป็นต้น

นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจของเราไปเห็นบ้านเมืองอื่นมีถนนเลียบแม่น้ำก็อยากจะก่อสร้างด้วย โดยไม่คำนึงว่าชุมชนริมเจ้าพระยาที่อยู่กับสายน้ำมายาวนาน 200 ปี ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริง รับฟังแต่ข้าราชการ บางโครงการไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัน พอเข้ามาก็มีโครงการก่อสร้างเขื่อนให้เซ็นต์ 6 เขื่อน ถ้าก่อสร้างหมด สิ่งแวดล้อม ป่าไม้เมืองไทยพังหมด จึงให้มีการศึกษาเพิ่มเติม และได้อนุมัติเพียง 2 เขื่อน

“โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่ทำลายแม่น้ำเจ้าพระยา หากยังเดินหน้าก่อสร้างก็ให้ตั้งชื่อถนนประยุทธ์ จันทร์โอชา ซะเลย” อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย กล่าว

นายขวัญสรวง อติโพธิ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างถนนเลียบเจ้าพระยา ผิดพลาดในทุกมิติ ทั้งด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตคนที่ผูกพันกับสายน้ำมาเป็นเวลา 200 ปี เป็นการทำลายศักยภาพของชุมชน ทำลายศักยภาพของประเทศ  ขณะที่ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เห็นว่า การดำเนินโครงการฯ ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 ก็ให้การคุ้มครอง แต่การศึกษาโครงการไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพียงแต่มาแจ้งให้ทราบว่ามีโครงการ และดำเนินการอย่างรีบเร่ง จึงเห็นว่าการดำเนิน การน่าจะเป็นโมฆะ

“ม.ธรรมศาสตร์พร้อมที่จะร่วมมือในการคัดค้านโครงการในทุกมิติ หากต้องการใช้สถานที่ในการประชุมรับฟังความเห็น ในฐานะ รองอธิการบดี จะอนุมัติทันที” ดร.ปริญญา กล่าว

ขณะที่นายมาโนช พุฒตาล กล่าวว่า โครงการนี้รัฐบาลคิดเหมือนเด็ก ย้อนกลับไปเมื่อตนเป็นเด็กพายเรือไปเรียนหนังสือใช้เวลานานก็อยากปั่นจักรยานเพื่อให้ไปรวดเร็ว แต่พอโตขึ้นมาก็อยากกลับไปพายเรือ เพราะแม่น้ำคือความชุ่มชื่น เป็นความอุดมสมบูรณ์ การก่อสร้างโครงการเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ ทำลายวิถีชีวิตริมน้ำ ทำลายการท่องเที่ยวริมน้ำ ด้านนายอดุบย์ โยธาสมุทร ตัวแทนชุมชุมมัสบิดบางอ้อ กล่าวว่า ชาวชุมนมัสยิดบางอ้อ เป็นมุสลิมจากอยุธยา ที่ล่องแพมาหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้ซื้อที่ดินอยู่บนฝั่ง ก่อสร้างมัสยิดอายุ 99 ปี ที่มีความสวยงาม หากมีการก่อสร้างถนน ก็จะเป็นการทำลายทัศนียภาพริมเจ้าพระยา ทำลายความสวยงามของสถาปัตยกรรม ทำลายวิถีชุมชน จึงไม่เห็นด้วยให้ก่อสร้างถนน หากจะสร้างก็ขอเพียงทางจักรยานก็เพียงพอแล้ว

น.ส.รสนา โตสิตระกูล เห็นว่า ควรจะฟ้อง สจล. เพราะไม่มีใบอนุญาตด้านวิศวกรรมน่าจะเป็นช่องทางให้ฟ้องร้องได้  สมัชชามีการเสนอความเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ จะทำลายร้านอาหารริมแม่น้ำ ที่เป็น
จุดขายหลักของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ บรรยากาศดั้งเดิม ทำลายทัศนียภาพของวัด มัสยิด ที่มีอยู่จำนวนมาก ร่วมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีการปักเสาเข็มลงไปลึก 50 เมตร อาจจะส่งผลกระทบต่อดินบริเวณใกล้เคียงให้ทรุดตามลงไปด้วย กระทบต่อบ้านเรือนชาวบ้าน

“เป็นการสร้างความอัปลักษณ์ให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา หากก่อสร้างไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนสิ่งที่ดีงามเก่าๆ ได้แล้ว อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการ” เสียงของผู้เข้าร่วมเสวนา

สมัชชาแม่น้ำได้ร่วมกันขึ้นป้ายขนาดใหญ่ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างหรือทำลาย และ จะมีการณรงค์คัดค้านโครงการให้กว้างขวางขึ้น โดยการติดป้ายคัดค้านทุกชุมชน รวมถึงเคลื่อนไหวในทิศทางอื่นๆ คู่ขนานไปด้วย อาทิ การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2559