นมตรามะลิ แข็งแกร่งตลาดอาเซียน

1456

“นมตรามะลิ” สยายปีกเติบโตแข็งแกร่งในตลาดอาเซียน รุกหนัก CLMV หลังผลตอบรับเกินคาด เน้นความจริงใจต่อลูกค้าในการทำตลาด โปรหนักเอเย่นต์ต่างประเทศ พาเที่ยวไทย จูงใจสร้างยอดขาย 

นางสุดถนอม กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด กล่าวถึงการทำตลาดนมตรามะลิ ในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า นมตรามะลิได้เข้ามาไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยเข้าไปในเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา กำลังจะเข้าไปฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศอื่น อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเชีย คงไม่เข้าไป เพราะแบรนด์ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มียอดส่งออกเมื่อปี 2559 ประมาณ 30% ของแบรนด์ นมตรามะลิ
บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด มีโรงงาน ผลิตสินค้าคิดเป็นปริมาณรวมกว่า 3 แสนตัน/ปี ผลิตสินค้าครอบคลุมทั้งนมข้นหวาน นมข้นจืดสเตอริไลซ์ ครีมสเตอริไลซ์ เนยสดแท้ และเนยสดผสม ที่ปัจจุบันขยายตลาดไปกว่า 30 ประเทศ ทั่วโลก
เธอกล่าวว่า ตลาดหลักของนมตรามะลิ

ในต่างประเทศที่ได้ทำตลาดมาแล้วหลายปี อาทิ แคนาดา และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับผลิตแบบ OEM ผลิตส่งออกไปนามแบรนด์ของลูกค้า แต่ในฟิลิปินส์ได้เจรจาขอนำแบรนด์ “ตรามะลิ” เข้าไปทำตลาด ให้ลูกค้าช่วยหาเอเย่นต์ และเรื่องการตลาด ได้ตกลงกันระดับหนึ่งแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 คาดว่า จะสามารถ ส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ได้

สำหรับการทำตลาดในอาเซียน นางสุดถนอม กล่าวว่า ในแต่ละประเทศการทำตลาดจะแตกต่างกัน โดยตลาดเมียนมาจะส่งออกไปทาง อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะขายเงินสดให้กับเอเย่นต์ แต่จะเข้าไปช่วยทำตลาด เช่น การติดป้ายตามร้านค้า การให้ลูกค้าร่วมกิจกรรมและแจกของรางวัล การส่งทีมลงไปทำกิจกรรมกับร้านค้า และสร้างจูงใจให้เอเย่นต์ หากมียอดขายตามที่กำหนด ก็จะให้รางวัลเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้นำเที่ยวไปจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก แต่ตลาดในเมียนมายังเข้าไปไม่ถึงย่างกุ้ง เมืองเศรษฐกิจ เพราะยังมีปัญหาการขนส่ง แต่กำลังขยายเข้าไปเรื่อยๆ จากเมืองชายแดน
ส่วนที่สปป.ลาว และกัมพูชา การทำตลาดคล้ายๆ กับที่เมียนมา เช่น การส่งทีมงานไปทำกิจกรรมกับร้านค้าตามลาด ลูกค้าร้านไหนวางนมตรามะลิ จะได้รางวัล รวมทั้งการเข้าไปจัดงานสร้างอีเวนต์กระตุ้นการตลาด ซึ่งใน สปป.ลาว มีนมตรามะลิ รายเดียวที่เข้าทำตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ตลาดได้ขยายอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เวียดนาม กำลังศึกษาตลาดอยู่
“เราไม่รีบเร่งนัก ไม่โหมทำตลาด แต่จะทำตลาดแบบค่อยเป็นไปตามความเหมาะสมตามสถานการณ์และพื้นที่เพื่อให้เจ็บตัวน้อยลงและได้รับการตอบรับที่ดี ผลิตภัณฑ์ตรามะลิได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านดีทีเดียว” เธอกล่าว

ประวัติ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด

2505 ก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด
2508 “มะลิ” นมข้นหวาน
2514 “เนยสดตราออร์คิด” (ชนิดเค็มและชนิดจืด)
2515 “มะลิ” นมข้นจืด
2523 “มะลิ” นมยูเอชที ขนาด 250 มล. (ต่อมาได้ผลิตขนาด 200 มล. และ 1,000 มล.)
2528 “มะลิ” นมผง ชนิดละลายทันที (ขนาด 400 กรัม, 900 กรัม และ 2,500 กรัม)
2530 “โยเพลท์” โยเกิร์ต
2531 “ฮาวาย” กะทิสำเร็จรูปยูเอชที (ชนิดบรรจุกล่องและกระป๋อง)
2532 “ออร์คิด” นมสดสเตอริไลส์ และนมพาสเจอไรส์
2533 “ออร์คิด” นมข้นหวาน
2534 “มะลิ จูเนียร์” นมยูเอชที
2535 “ออร์คิด” นมยูเอชทีรสช็อกโกมอลต์
2537 “โยเพลท์และโยพี” นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม
2545 “เบิดวิงซ์” ครีมเทียมข้นหวานและนมข้นจืด “ลิลลี่” เนยผสมไขมัน
2547 “มะลิ” ชาไทยเย็น กาแฟเย็นและชาเขียวเย็นยูเอชที “ออร์คิด” ครีมเทียมข้นหวาน และผลิตภัณฑ์นม  สำหรับปรุงอาหารและเบเกอรี่
2548 “มะลิ” นมข้นแปลงไขมันหวานยูเอชที
2549 “มะลิ” นมสดสเตอริไลส์
2550 “มะลิ โกลด์” ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน และครีมเทียมพร่องไขมัน
2552 “พิมส์” มาร์การีนและชอร์ตเทนนิง “มะลิ” น้ำดื่ม
2557 “มะลิ” ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน สูตรถั่วเหลือง
2558 “มะลิ” ครีมเทียมพร่องไขมัน สูตรถั่วเหลือง
2559 “มะลิ” โปรเฟสชั่นแนล ในปี 2559 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 3,500-3,700 ล้านบาท และได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 4,000-4,500 ล้านบาท จากศักยภาพของผู้บริโภคและจำนวนประชากรรวมกันกว่า 260 ล้านคน ขณะเดียวกันจะมีสัดส่วนการตลาดส่งออกต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศในซีแอลเอ็มวี 70% และกลุ่มประเทศอื่นอีก 30% ด้วยในปัจจุบันเห็นว่าการทำตลาดในประเทศอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจากจำนวนคู่แข่งในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนมกราคม 2560